InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.12 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัว อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 34.97 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทอ่อนค่าจากช่วงเช้า โดยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคและทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ แข็งค่า หลังมีความกังวลเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.92 - 35.16 บาท/ดอลลาร์ "บาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องเฟดที่กดดันให้ดอลลาร์แข็งค่า ระหว่างวันเงินบาททำนิวไฮในรอบ 12 เดือนที่ ระดับ 35.16 บาท/ดอลลาร์ แต่ทิศทางบาทอ่อนค่ามาเร็ว ผู้ส่งออกต้องระมัดระวัง หากชะล่าใจอาจทำให้เสียโอกาส" นักบริหาร เงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.95 - 35.25 บาท/ดอลลาร์ THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 35.1357 บาท/ดอลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 136.29 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 136.31 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0556 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0549 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,627.35 จุด ลดลง 6.67 จุด (-0.41%) มูลค่าการซื้อขาย 54,202 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,438.47 ลบ. (SET+MAI) - กระทรวงการคลัง เผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดี ขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงิน เฟ้อลดลงต่อเนื่อง - กระทรวงการคลัง เผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ.อยู่ในระดับสูงทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางที่ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ - กระทรวงพาณิชย์ เผยเดือน ม.ค.ไทยส่งออกข้าวได้ 805,518 ตัน มูลค่า 14,277 ล้านบาท โดยปริมาณและ มูลค่าเพิ่มขึ้น 75.20% และ 78.76% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ปีก่อนที่ส่งออกได้ 459,773 ตัน มูลค่า 7,956 ล้านบาท - กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วง สงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค คือ ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ฉีด LAAB ขณะที่ข้อมูลล่าสุดวันที่ 19-25 ก.พ.66 มีผู้ป่วยรักษาในรพ. 204 ราย อาการหนัก 66 ราย เสียชีวิต 9 ราย - โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากญี่ปุ่น เผยยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 689,090 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.8% ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน แต่พลาดเป้าคาดการณ์ไว้ที่ 700,000 คัน เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนจากผลพวงของโรคโควิด-19 - ผลการศึกษาจากสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเติม 1.6 ล้าน ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55.87 ล้านล้านบาท) หากปราศจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวมีผล ต่อเศรษฐกิจระดับโลกเป็นอย่างสูง โดยบริษัททั่วโลกเผชิญแรงกดดันจากปัญหาอุปทานพลังงานและวัตถุดิบ ขณะชาติตะวันตกรับผล กระทบเป็นพิเศษ เพราะสูญเสียการผลิตระดับโลกถึง 2 ใน 3 - ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือนม.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่าง งาน