ยิ่งใกล้การประชุมใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้ามามากเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนว่ากระแสการลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งล่าสุดเมื่อนักลงทุนได้เห็นคำสัมภาษณ์ของนางแมรี่ ดาลีย์ ประธานธนาคารกลางเฟดแห่งสาขาซาน ฟรานซิสโก ที่ให้ไว้กับนิตยสารการเงินชื่อดัง Financial Times ยิ่งทำให้ตลาดมั่นใจว่าการลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าการลด QE จะต้องเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี 2021 แน่นอน
“ส่วนตัวแล้วดิฉันเชื่อว่ากรอบการลดวงเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะอยู่ภายในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า แต่ถ้าจะให้ดี เฟดก็ควรลดวงเงินได้ตั้งแต่ก่อนสิ้นปีนี้” แมรี่ ดาลีย์ กล่าว
สาเหตุที่คำพูดของนางแมรี่ ดาลีย์นั้นสำคัญเป็นเพราะเธอเป็นประธานเฟดที่อยุ่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาโดยตลอด การที่แม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังมีความเห็นว่าควรลดสภาพคล่องได้แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเงินในระบบตอนนี้มีมากเกินไปแล้วจริงๆ นอกจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว แมรี่ยังยกตัวอย่างหลักฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาด้วย นั่นก็คือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคมที่ออกมา 943,000 ตำแหน่ง และตัวเลขอัตราการว่างงานที่ลดลงจาก 5.9% ลงมาเป็น 5.4%
อย่างไรก็ดี สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ พวกเขาไม่ได้แปลกใจกับท่าทีของเหล่าบรรดาสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินที่เริ่มเปลี่ยนใจมาอยู่ฝ่ายสนับสนุนการถอน QE มากขึ้น ถึงแม้ว่าเจอโรม พาวเวลล์ จะออกมาพูดอยู่ตลอดว่ารอให้มาตรวัดทางเศรษฐกิจขึ้นถึงเป้าก่อน จึงจะมีการลด QE แต่ที่ผ่านมาตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคล ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและค้าปลีกก็สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาตลอด
ความกังวลเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประธานเฟดหลายคนเรียกร้องให้ลด QE
ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนคิดไปเอง ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) แบบปีต่อปีในเดือนกรกฏาคมที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 5.3% และเท่ากันกับตัวเลขในเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อของประเทศไม่ได้ลดลงเลย
นอกจากนี้ผลสำรวของสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ที่ได้ไปสอบถามบุคคลทั่วไปได้ข้อสรุปว่า 86% ของชาวอเมริกันมีความกังวลเงินเฟ้อจริง และพวกเขาโทษว่าเป็นความผิดของโควิด แต่ที่น่าสนใจคือเกือบ 45%-79% ก็โทษว่าเป็นความผิดของนโยบายรัฐบาลด้วย
เอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางสาขาเคนซัส ซิตี้ซึ่งถือเป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบายการเงินแบบเหยี่ยวได้แสดงความเห็นที่สมาคมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า
“ตอนนี้เงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เฟดเคยตั้งไว้ก็สามารถทำได้ครบหมดแล้ว เหลือเพียงการรอดูตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3 นี้เท่านั้น หากเป็นตามนี้จริง ก็ถึงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนนโยบายการเงินจากผ่อนคลายมาเป็นตึงตัวมากขึ้นอย่างไม่มีข้อแม้”
ในการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ครั้งล่าสุดของนายโรเบิร์ต เคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯแห่งดัลลัสก็ได้ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า
“FOMC ควรประกาศลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรภายในเดือนกันยายนนี้และเริ่มทำทันทีตั้งแต่เดือนตุลาคม เหตุผลที่ผมสนับสนุนให้มีการลด QE โดยเร็วที่สุดเป็นเพราะการมีอยู่ของ QE ยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของอเมริกายังมีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งตอนนี้เราไม่ต้องการการกระตุ้นอะไรอีกแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มถอนคันเร่งและเปลี่ยนมาแตะเบรก ค่อยๆ ชะลอความเร็ว และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องรอจนถึงวันที่ต้องแตะเบรกกะทันหัน”
“อย่างไรก็ตาม” เขากล่าวต่อ “สิ่งที่นักลงทุนควรรู้ก็คือการแตะเบรก QE ต้องใช้เวลา และเวลาที่เราคาดการณ์เอาไว้คือแปดเดือน โดยที่ระยะเวลาดังกล่าวไม่คำนวณรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะได้เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในต้นปี 2022 แน่นอน”
นายราฟาเอล บอสติค ประธานธนาคารกลางแห่งแอตแลนตายอมรัยบว่าตอนนี้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเลยเป้าหมาย 2% ไปพอสมควร จากการคำนวณของเขา การจะลดตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคคลให้ลงมาเหลือ 2% ต้องใช้เวลาห้าปีตามค่าเฉลี่ย
ในสัปดาห์ที่แล้วโทมัส บาร์กิ้น และอีริค โรเซนเกน ประธานธนาคารกลางแห่งริชมอนต์และบอสตัน ก็ได้ออกมาสนับสนุนความเห็นของบอร์บริหารเฟดนายริชาร์ด คาร์ลิด้า และคริสโตเฟอร์ วอลล์เลอร์ ว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งเอาไว้ใกล้ถึงจุดที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบตามเป้าหมาย KPI ที่ต้องการแล้ว
เมื่อหันไปมองที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลียหรืออังกฤษต้องยอมรับว่าพวกเขามีความกล้าตัดสินใจมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มาก นายฟิลิป โลว์อี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ยังคงยืนยันว่า RBA จะเริ่มลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรในเดือนหน้า แม้ว่ารัฐบาลออสเตรเลียพึ่งประกาศยืดระยะเวลาล็อกดาวน์ในซิดนีย์และเมลเบิร์นออกไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตา
ส่วนตัวแล้วประธาน RBA ยอมรับว่าการล็อกดาวน์ครั้งใหม่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตช้าลง แต่เขาก็เชื่อว่าเศรษฐกิจพร้อมฟื้นตัวกลับมาได้ทันทีหากว่าการระบาดระลอกนี้สามารถควบคุมได้
การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษรอบล่าสุดได้ข้อสรุปว่าพวกเขาจะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.1% แต่พวกเขาก็กล้าที่จะประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีหน้า แม้ว่าสภาวะเงินเฟ้อภายในสหราชอาณาจักรตอนนี้ก็เริ่มที่จะอุ่นๆ พอสมควร นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปีนี้จะอยู่ที่ 8% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพฤษภาคม 7.25% ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะได้เห็นเร็วที่สุดภายในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า