“ทุ่งลาเวนเดอร์” คือคำที่สามารถใช้บรรยายบรรยากาศการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ได้ดีที่สุด แม้แต่ Wall Street Journal ยังรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาโดยใช้คำพูดว่า “ตลาดน้ำมันดูมีอนาคตที่สดใสเป็นอย่างมาก” ถ้าลองไล่ลำดับเหตุการณ์ของตลาดน้ำมันดิบในปีนี้ดูให้ดีๆ คุณจะพบว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากเพราะเพียงย้อนเวลากลับไปไม่กี่สัปดาห์คุณจะยังได้ยินคนพูดแต่คำว่า “นี่มันฝันร้ายชัดๆ” “ปี 2020 มีแต่ความไม่แน่นอน” “น้ำมันดิบมาถึงจุดวิกฤตแล้ว” เป็นต้น
ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงหลักของโลกอย่าง เบรนท์ และ WTI ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าขาขึ้นของสัปดาห์นี้จะไม่ได้รุนแรงอย่างเช่นสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าแม้ WTI จะขึ้นมา $23 และเบรนท์ขึ้นมา $15 ภายในเวลาเพียง 30 วันแต่ทั้งคู่ก็ยังไม่สามารถผ่านแนวต้าน $30 ขึ้นไปได้ จริงอยู่ว่าที่ราคา $30 ถือว่าดีกว่า $10-$20 แต่จริงๆ แล้วถ้าจะให้ตลาดน้ำมันสหรัฐฯ รอดจากคำว่า “ไม่มีเสถียรภาพ” แล้วราคาน้ำมันดิบควรจะต้องอยู่สูงกว่า $50 การที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำขนาดนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ เป็นอย่างมากเพราะต้นทุนที่สหรัฐฯ ใช้ขุดน้ำมันสูงกว่าซาอุดิอาระเบียหรือรัสเซีย
เป็นความจริงที่ตอนนี้การผลิตน้ำมันกำลังลดลงและก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ตอนนี้ตลาดน้ำมันดิบกำลังถูกดันขึ้นด้วยความหวัง พาดหัวข่าวและบรรยากาศการลงทุนที่ดี แต่ลำพังแล้วบรรยากาศการลงทุนแบบทุ่งลาเวนเดอร์ไม่อาจนับเป็นความมั่นคงในการลงทุนได้ ในบทความนี้เราจะมาอัปเดตสถานการณ์ของตลาดน้ำมันดิบทั้งในฝั่ง Supply, Demand และภาพรวมจริงๆ ของตลาดน้ำมันดูบ้าง
Supply
ในปัจจุบันการลดกำลังการผลิตน้ำมันกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแต่ความกังวลก็เกิดขึ้นเมื่อมีคนตั้งคำถามว่าการลดกำลังการผลิตฯ ครั้งนี้จะคงอยู่ไปจนถึงช่วงครึ่งหลังปี 2020 เลยหรือไม่
ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่ในกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบีย คูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างสัญญาว่าพวกเขาจะลดกำลังการผลิตฯ ลงในเดือนเดือนพฤษภาคมและก็ได้ทำตามสัญญานั้นจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้นซาอุดิอาระเบียสัญญาว่าจะลดกำลังการผลิตฯ ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรลในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง
ประเทศที่มักจะสร้างเซอไพรส์ให้กับโลกก็ยังคงเป็นรัสเซียเจ้าเก่าแต่ในครั้งนี้เป็นการสร้างความประหลาดใจที่ดี ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าตัวเลขการผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ ในเดือนพฤษภาคมซึ่งปกติแล้วรัสเซียมักไม่ค่อยทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้อย่างเต็ม 100% สักเท่าไหร่ รอยเตอร์รายงานอย่างละเอียดว่ารัสเซียผลิตน้ำมันเพียง 9.42 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงระหว่างวันที่ 1-19 พฤษภาคมซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติจำนวน 8.72 ล้านต่อวัน หากตัดการผลิตก๊าซธรรมชาติออกไป (ไม่ผิดกฎที่ตกลงไว้กับโอเปก) จะเท่ากับว่ารัสเซียผลิตน่ำมันเพียง 320,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น
กำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รายงานจาก EIA คำนวณว่ากำลังการผลิตน้ำมันที่สิ้นสุดการคำนวณในวันที่ 15 พฤษภาคมปรับลดลง 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ มีตัวเลขลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ EIA เริ่มเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 1987
ข่าวการลดกำลังการผลิตฯ เหล่านี้คือปัจจัยที่ดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็มีข่าวเหมือนกันว่าในระยะเวลาอันใกล้ตัวเลขซัพพลายอาจจะกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง บริษัท Alyeska Pipeline คือบริษัทที่ควบคุมการผลิตน้ำมันจากอลาสก้าซึ่งบริษัทนี้พึ่งจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตฯ ย้อนกลับไปในเดือนเมษายนบริษัท Alyeska ได้ประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 10% แต่ตอนนี้ตัวเลขนั้นเหลือเพียง 5% เท่านั้น
นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันสหรัฐฯ บางแห่งเริ่มออกมาแสดงจุดยืนว่าพวกเขาพร้อมแล้วที่จะเพิ่มกำลังการผลิตฯ เมื่อราคาน้ำมันขึ้นถึงจุดที่พวกเขามองว่าเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง Diamondback (NASDAQ:FANG) และ Parsley Energy (NYSE:PE) เคยกล่าวว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบ WTI ขึ้นถึง $30 เมื่อไหร่พวกเขาจะพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตทันทีและเริ่มค้นหาหลุมขุดเจาะน้ำมันใหม่ซึ่งตอนนี้ WTI ปรับตัวขึ้นเกิน $30 ไปแล้ว
เมื่อพูดถึงกลุ่มโอเปก+ ประเทศอย่างอิรักและคาซัคสถานยังไม่ยอมที่จะทำตามข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอีรักที่ลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวันจากที่ตกลงเอาไว้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเพราะประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องเจรจากับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ (IOC) ที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตน้ำมันเสียก่อน ดังนั้นความรวดเร็วในการจัดการจึงไม่สามารถทำได้ทันทีอย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จริงแล้วดูเหมือนว่าอิรักและคาซัคสถานตั้งใจจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากสัญญาครั้งนี้มากกว่าที่จะตั้งใจช่วยลดกำลังการผลิตฯ จริงๆ
Demand
ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบกลับมาเมื่อหลายๆ ประเทศคลายมาตรการปิดล็อกเมืองและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ GasBuddy ซึ่งคอยติดตามปริมาณการใช้งานเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ พบว่าตัวเลขการใช้งานเชื้อเพลิงค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนแม้ว่าตัวเลขที่กลับมาจะยังน้อยกว่าปริมาณการใช้งานในเดือนพฤษภาคมปี 2019 อยู่ 25% ก็ตาม
สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบเริ่มกลับมาแล้วจริงๆ ต้องมองไปยังประเทศจีน จากการรายงานของบลูมเบิร์กพบว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบในจีนกลับมา 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ตัวเลขความต้องการน้ำมันดิบยังปรับตัวลดลง 20% เพราะสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าปริมาณความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงจะดีดกลับมาเร็วและแรงมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดเสียอีก ดัชนี TomTom Traffic แสดงข้อมูลให้เห็นว่าการจราจรในกรุงปักกิ่งตอนนี้แออัดกว่าปกติเพราะผู้คนเลือกที่จะใช้รถส่วนตัวมากกว่าใช้รถขนส่งสาธารณะ
เชื่อว่าเราจะได้เห็นแนวโน้มการใช้รถส่วนตัวเพิ่มขึ้นในเมืองหลวงประเทศต่างๆ เช่นกัน แต่สำหรับคนที่ทำงานในมหานครนิวยอร์กและลอนดอนพวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนในอดีตแล้วก็เป็นได้ ที่สำคัญพวกเขาอาจถูกบังคับให้เดินทางด้วยจักรยานหรือเดินเท้าแทน
บรรยากาศการลงทุนโดยรวม
ตอนนี้นักลงทุนในตลาดไม่ได้สนใจข่าวจากฝั่งอุปสงค์มากเท่ากับข่าวฝั่งอุปทาน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบก็เหมือนราคาในตลาดหุ้นที่การเคลื่อนไหวของราคาส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสภาพอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด (ที่ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจากพาดหัวข่าวอีกที) ซึ่งตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ข่าวดีที่สนับสนุนราคาอยู่เต็มไปหมด
การเคลื่อนที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองหลักๆ ยังถูกปิดล็อกเมืองและการเดินทางโดยอากาศยังเป็นอะไรที่ผู้คนไม่กล้าเสี่ยงแม้แต่ในพื้นที่ไม่มีการควบคุมเข้มงวดแล้วก็ตาม เราไม่รู้ว่าความกลัวของผู้คนที่มีต่อไวรัสโคโรนาจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจา่กจบล็อกดาวน์มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญการลดลงของตัวเลข GDP ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการน้ำมันดิบเป็นอย่างมากต่อให้การเดินทางหรือมาตรการคุมเข้มจะผ่อนคลายลงมามากแล้วก็ตาม ยังมีปัจจัยที่เราไม่รู้อีกเยอะเกี่ยวกับอนาคตของปริมาณความต้องการน้ำมันดิบ
ดูกราฟราคาน้ำมัน WTI
https://th.investing.com/commodities/crude-oil
ดูกราฟราคาน้ำมัน Brent
https://th.investing.com/commodities/brent-oil
ไม่อยากพลาดบทความดีๆ อย่าลืมกด "ติดตาม" นะครับ