InfoQuest - ธนาคารกสิกรไทย (BK:KBANK) [KBANK] ภาพรวมระหว่างวันที่ 2 ม.ค. - 27 ธ.ค. 2567 นั้น เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.04 บาท/ดอลลาร์ (ณ 27 ธ.ค. 67) แข็งค่าขึ้น 0.3% จากระดับ 34.14 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยมีปัจจัยกดดันในช่วงต้นปีจากความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยนและเงินหยวน สวนทางกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นหลังสัญญาณกังวลเงินเฟ้อจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ตลาดประเมินว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 37.18 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนเม.ย. 2567 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ แรงหนุนของเงินดอลลาร์เริ่มชะลอลง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ น่าจะแตะจุดสูงสุดไปแล้ว
เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/67 โดยมีปัจจัยหนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของไทยที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ เงินดอลลาร์กลับมาเผชิญแรงเทขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 50 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. 2567 โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนก.ย. 2567
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 สอดคล้องกับสัญญาณฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทยและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนต.ค. 2567 ขณะที่ เงินดอลลาร์เริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจุดชนวนความกังวลต่อประเด็นความขัดแย้งของนโยบายการค้า (ทำให้เงินหยวน สกุลเงินเอเชียและเงินบาทอ่อนค่าลง) ประกอบกับเฟดมีการปรับมุมมองที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปี 2568 ซึ่งสะท้อนว่า แม้เฟดอาจจะยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่จังหวะและจำนวนรอบของการปรับลดดอกเบี้ยอาจชะลอลงและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น