ในเดือนที่ผ่านมา ผมชวนทุกท่านคุยเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในครึ่งปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่เราได้เผชิญกับวิกฤติโคโรนาไวรัสไปแล้ว และสัญญาว่าเดือนนี้จะกลับมาคุยกันเรื่องมุมมองในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยเมื่อมองย้อยกลับไปศึกษาวิกฤติครั้งนี้ทั้งในมุมเศรษฐกิจและตลาดการเงินจะพบว่าต้นตอของปัญหา ทางแก้ไข ความเร็ว และการติดต่อ คือ “ความต่าง” จากวิกฤติอื่น ๆ ในอนาคต สิ่งที่จะกำหนดทิศทางของตลาดการเงินจึงต้องครอบคลุมบริบทดังกล่าว ซึ่งผมมองว่าประเด็นสำคัญทั้งหมดมีให้จำง่าย ๆ ด้วยตัว “E” สี่ตัวด้วยกัน
E ตัวแรกคือ Evidence แน่นอนว่าผมหมายถึงหลักฐานความสำเร็จของยาต้านไวรัส
ประเด็นนี้จะเป็นตัวกำหนด “ความเร็ว” ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอนาคต ล่าสุดนักวิเคราะห์ประเมินกันว่าวัคซีนจะพัฒนาสำเร็จในช่วง “กลางปี 2021” กลุ่มธุรกิจที่ต้องอาศัยการติดต่อทางตรงจึงอาจต้องรอไปก่อน
แต่เมื่อไหร่ที่ยาต้านไวรัสพัฒนาสำเร็จ ตลาดการเงินก็จะเข้าสู่ช่วง “เติบโตใหม่” ความมั่นใจจะกลับมาเต็มที่ เมื่อถึงจุดนั้นการลงทุนแบบมูลค่า (Value) ก็มีโอกาสกลับมาแข่งกับการลงทุนที่เน้นแต่การเติบโต (Growth) ในช่วงนี้ได้
Election คือ E ตัวที่สอง
โดยวันที่ต้องปักหมุดไว้บนปฏิทิน คืออังคารที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเหลืออีกไม่ถึง 90วัน เราก็จะรู้แล้วว่าใครจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
ในการเลือกตั้งช่วง 70ปีที่ผ่านมา (ไม่นับรวมปีเศรษฐกิจถดถอย) ปีเลือกตั้งมักเป็นปีที่หุ้นสหรัฐปรับตัวบวกต่อเนื่องจากต้นปีมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะเคลื่อนไหวกว้าง ๆ ก่อนเลือกตั้ง และจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งในปีถัดไปเพราะ “ความไม่แน่นอน” จะปรับตัวลงไม่ว่าผู้ชนะจะเป็นใคร
แต่ครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็น “ทางแก้ปัญหาหลัก” นำไปสู่การขาดดุลทางการคลังอย่างมหาศาลไปก่อนหน้าแล้ว
ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจต่อแบบไม่สร้างภาระทางการเงิน ก็ต้องมองเรื่องการเก็บภาษีซึ่งเป็นลบต่อตลาดหุ้น หรือถ้าไม่แก้ไขการขาดดุล ก็จะต้องเผชิญกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พูดให้ชัดคือการเลือกตั้งในสหรัฐ จะเป้นตัวกำหนดทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แม้จะปัจจัยบวกในระยะสั้น แต่นโยบายการคลังจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงินในระยะยาวแน่นอน
E ตัวที่สามคือ Europe ที่จะส่งผลกับการจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกมากที่สุด
สิ่งที่ทำให้ยุโรปสำคัญมีด้วยกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางนโยบายการเงินที่สหภาพยุโรปใช้การ “กู้ร่วม” แก้วิกฤติ จึงช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังให้กับประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจโดยตรงได้
เปรียบเทียบกับสหรัฐที่มีการกู้ยืมสูง จนสถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของดอลลาร์ถูกตั้งคำถาม ความต้องการ “เงินยูโร” ที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอันดับสองจึงเพิ่มขึ้นหลังวิกฤติ
ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ตลาดทุนฝั่งยุโรปสามารถพลิกค่าเงินที่แข็งมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินที่ถูก หรืออำนาจการซื้อของชาวยุโรปที่เพิ่มขึ้น ตลาดเงินตลาดทุนก็อาจถึงเวลาย้ายฐานออกจากสหรัฐหลังวิกฤติ[hk’
และ E สุดท้ายแต่สำคัญไม่แพ้ตัวอื่นก็คือ Emerging Markets
เพราะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกไม่มีทางจะกลับไปขยายตัวอย่างมั่นคงได้ถ้าประเทศในตลาดเกิดใหม่ (EM) ไม่ฟื้นตัว แต่ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้กลับยังคง “ติดโคโรนาไวรัส” ไม่หาย
และขณะที่เงินเฟ้อหรือดอลลาร์ซึ่งเคยเป็นปัญหาหลักลดความน่ากังวลลง แต่ EM กลับไม่สามารถฉกฉวยโอกาสเติบโตได้ เพราะส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งวัฏจักรและเงินทุนจากต่างประเทศอยู่
แต่ถ้ามองมุมกลับ วิกฤติครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกเปิดรับเทคโนโลยีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ถ้า EM เปลี่ยนมา “ติดเทคโนโลยี” และใช้ไอทีเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนเสริมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เหมือน Developed Markets ตลาดการเงินโลกก็จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่ต้องสงสัย
และนั่นก็คือ E ทั้งสี่ที่ผมคาดว่ากำลังจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอนาคต
ในฝั่งเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าความเร็วและความแรงของนโยบายรับมือไวรัส คือประเด็นที่ทุกคนต้องจดจำมากกว่าไวรัสเสียอีก ส่วนในฝั่งตลาดการเงินก็ต้องจำว่าสินทรัพย์ที่เคยคิกว่าแพงก็อาจแพงขึ้นได้เสมอ
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมกลับไม่เชื่อว่าสองสิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) เหมือนอย่างที่หลายคนประเมินกัน
เพราะผมไม่คิดว่าจะมีประเทศไหนที่สามารถอัดฉีดสภาพคล่องเลี้ยงเศรษฐกิจได้ตลอดไป และก็ไม่คิดว่าตลาดการเงินจะซื้อขายโดยใช้แต่ความหวังโดยไม่สนใจพื้นฐานไปได้ตลอด
นักลงทุนมักสงสัยว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปจากวิกฤติครั้งนี้ แต่กลับลืมตั้งคำถามต่อว่า ประเด็นไหนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง
ซึ่งผมเชื่อว่า 4E จะเป็นสิ่งที่เราต้องจับมาที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว