InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุด ขณะที่นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
ณ เวลา 20.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 42,449.40 จุด บวก 335.00 จุด หรือ 0.80%
นักลงทุนคลายความวิตกด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลทำการโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิหร่านเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยหลีกเลี่ยงการโจมตีแหล่งน้ำมัน โรงงานนิวเคลียร์ รวมทั้งเป้าหมายทางด้านพลเรือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยจำกัดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านมิให้ลุกลามทั่วภูมิภาค
ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยบวกจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันจากการที่อิสราเอลหลีกเลี่ยงการโจมตีแหล่งน้ำมันในอิหร่าน ซึ่งการทรุดตัวของราคาน้ำมันช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ร่วงลงสวนทางตลาดวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของราคาน้ำมันในตลาด
นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/67 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)
นอกจากนี้ ตลาดจับตาผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม "Magnificent Seven" โดย 5 จาก 7 บริษัทในกลุ่มดังกล่าวจะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ได้แก่ บริษัทอัลฟาเบท ไมโครซอฟท์ เมตา แอปเปิ้ล และแอมะซอน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 6-7 พ.ย. เพียง 1 วันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. รวมทั้งให้น้ำหนัก 73.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค.
หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ย.และเดือนธ.ค.ตามคาด ก็จะสอดคล้องกับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569
โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.