InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 200 จุด หลุดระดับ 33,000 จุด โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 20.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,943.52 จุด ลบ 183.76 จุด หรือ 0.55%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 16 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2550 ซึ่งในวันดังกล่าว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีทะยานขึ้นสู่ระดับ 5.029%
ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
นักลงทุนเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายในปีนี้ แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 98.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 57.7% เมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2%
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า ตลาดแรงงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องชะลอตัวลงเพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ
"การที่เฟดจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่เศรษฐกิจจะต้องมีการขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้ม และตลาดแรงงานจะต้องชะลอตัวลง" นายพาวเวลกล่าวถ้อยแถลงของนายพาวเวลมีขึ้น ขณะที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5.4% ในไตรมาส 3/2566 หลังจากมีการขยายตัวเพียง 2.2% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ