โดย Detchana.K
Investing.com - ในช่วงเวลานี้คงไม่มีเรื่องไหนที่จะร้อนแรงไปกว่าราคาทองคำ ที่เดินหน้าทุบสถิติเป็นว่าเล่น วันนี้ราคาทองคำแท่งไทย ขายออกที่บาทละ 29,050 บาท จากปัจจัยหนุนราคาทองคำในต่างประเทศทั้งกรณีปัญหาความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้นักลงทุนกําลังรอดูว่า เฟดจะส่งสัญญาณการดําเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคตหรือไม่ และมีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร ขณะที่ Goldman Sachs เก็งราคาทองจะแตะ 2,000 เหรียญต่อออนซ์ในปีหน้า เพราะความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองของโลกเริ่มสูงขึ้น ติดตามรายละเอียดพร้อมประเด็นสำคัญที่นักลงทุนไทยควรู้สำหรับวันนี้
1.ทั้งนักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญมองราคาทองสัปดาห์นี้ยังขาขึ้น
ศูนย์วิจัยทองคำเผยรายงานผลสำรวจราคาทองคำสัปดาห์นี้ ระบุว่า 14 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำที่ได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจ ในจำนวนนี้มี 7 ราย หรือเทียบเป็น 50% คาดว่าราคาทองคำในสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 3 ราย หรือ 21% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 4 ราย หรือ 29% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนผลสำรวจจากการสอบถามนักลงทุนทองคำ จำนวน 374 ราย มี 280 ราย หรือ 75% คาดว่าราคาทองคำในประเทศสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น มีจำนวน 56 ราย หรือ 15% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 38 ราย หรือเทียบเป็น 10% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สถานการณ์ราคาทองคำในประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 27,150 – 28,400 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 28,400 บาท ต่อบาททองคำ ปรับเพิ่มขึ้น 1,300 เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ที่อาจส่งผลต่อราคาทองได้แก่ การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐระหว่างวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น , สถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศ และติดตามกองทุนทองคำขนาดใหญ่ในต่างประเทศอาจเทขายทำกำไร หลังจากที่ราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น
ด้าน Goldman Sachs ได้ออกมาเพิ่มราคาคาดการณ์ทองคำของปีหน้าขึ้น +15% และคาดว่าราคาทองจะพุ่งแตะระดับ 2,300 เหรียญต่อออนซ์ได้ในปี 2021 ก่อนหน้านี้ทาง Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่า ราคาทองคำ จะแตะระดับ 2,000 เหรียญต่อออนซ์ได้ในปีนี้
ดูราคา Gold Spot XAU/USD
2.เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มซื้อขายในกรอบ 31.40-31.75 ต่อ ดอลลาร์
ตลาดการเงินสัปดาห์นี้จะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลาง สหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 28-29 ก.ค. โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดจะให้คํามั่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0-0.25% ต่อไป และประเมินเศรษฐกิจในเชิงลบมากขึ้นท่ามกลางความกังวลว่า สหรัฐฯควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่อยู่ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการใช้มาตรการด้านการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯกับจีนอาจมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนด้วยเช่นกัน หลังจีนสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตูเพื่อตอบโต้ สหรัฐฯซึ่งสั่งปิดสถานกงสุลของจีนในเมืองฮูสตัน
สําหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มุ่งหวังที่จะบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท USD/THB เป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทางตามเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน ทางด้าน กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการส่งออกเดือนมิ.ย. หดตัว 23.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนําเข้าลดลง 18.05% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1.61 พันล้านดอลลาร์ และสําหรับในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกลดลง 7.09% ส่วน การนําเข้าหดตัว 12.62% และเกินดุลการค้า 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์ ประเมินว่าการส่งออกเผชิญแรงกดดันจากภาวะซบเซาของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้า อีกทั่งการนําเข้าที่ฟื้นตัวช้า ยังคงสะท้อนแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกที่อ่อนแอ
3.ลุ้นข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและผลประชุมเฟด
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันพฤหัสฯ คาดว่า FOMC จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% จากภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก จะทำให้เฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน (Lower for Longer) และมีมุมมองพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หากจำเป็น ทั้งนี้ตลาดจะรอดูความเห็นของเฟดต่อเครื่องมือนโยบายการเงินที่อาจถูกนำมาใช้เพิ่มเติม อาทิ Yield Curve Control หรือ ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ
ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 จะหดตัวกว่า 35% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวราว 5% ในไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งตลาดพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากสภาคองเกรสสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ได้ภายในสัปดาห์นี้
ส่วนฝั่งยุโรป อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงเดือนมิถุนายน จะช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 หดตัวราว 12% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจดีกว่าฝั่งสหรัฐฯชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาสินทรัพย์ในฝั่งยุโรป อาทิ ค่าเงินยูโร รวมถึงตลาดหุ้นยุโรป