Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงในวันนี้ หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวจากการขาดทุนล่าสุด แต่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียถือเป็นข้อยกเว้น โดยสกุลเงินมีการแข็งแกร่งขึ้นหลังจากข้อมูลเงินเฟ้อทำให้เกิดความคาดหวังว่า RBA จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐก็ยังคงมีจำกัด เช่นเดียวกับการขาดทุนในตลาดภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความหวังเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐในเดือนหน้า ข้อมูลเงินเฟ้อที่กำลังจะเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ก็คาดว่าจะให้เบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้น
ความกังวลเกี่ยวกับจีนยังคงมีผลต่อตลาดเอเชีย หลังจากแคนาดาได้เรียกเก็บภาษีการค้าที่สูงกับภาคยานยนต์ไฟฟ้าของจีน
เงินดอลลาร์ออสเตรเลียขยับใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนจากข้อมูล CPI
ดอลลาร์ออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมากในเอเชีย โดยคู่ AUDUSD ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% และขยับใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนหลังจากข้อมูล CPI แสดงตัวเลขที่สูงกว่าที่คาดการณ์สำหรับเดือนกรกฎาคม
ตัวเลข CPI เพิ่มขึ้น 3.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยเนื่องจากราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น แม้ว่าการให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อโดยรวมลงบ้างก็ตาม
ด้านตัวเลข Core CPI ลดลงมาเป็น 3.7% จาก 4% แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของ RBA ที่ 2% ถึง 3%
รายงานในวันนี้ได้ทำให้เกิดการคาดการณ์มากขึ้นว่า RBA อาจยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ hawkish ต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอาจทำให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงขึ้นเป็นเวลานาน หรืออาจจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก
นักวิเคราะห์จาก ANZ กล่าวว่าถึงแม้ข้อมูลเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มปัจจุบันของ RBA
เงินดอลลาร์ฟื้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน จับตาข้อมูล PCE
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ในตลาดเอเชียและฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนเมื่อต้นสัปดาห์นี้
เงินดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันจากสัญญาณที่ดู dovish ของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเดิมพันเพิ่มขึ้นสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
นักลงทุนต่างยังคงคาดการณ์กันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นที่ 25 หรือ 50 จุดพื้นฐานกันแน่ตามข้อมูลจากเครื่องมือ Fedwatch ของ CME สัญญาณล่าสุดของการชะลอตัวในตลาดแรงงานสหรัฐก็ยังให้แรงสนับสนุนต่อการลดอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้น และยังทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 100 จุดพื้นฐานภายในสิ้นปีนี้
ความสนใจของตลาดในสัปดาห์นี้จึงอยู่ที่ข้อมูลดัชนีราคา PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดชื่นชอบ เพื่อตรวจสอบแผนการของธนาคารกลางในการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป
สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวในช่วงที่ค่อนข้างทรงตัวถึงต่ำลง โดยคู่เงิน USDJPY ของเงินเยนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 0.3% เป็น 144.44 เยน หลังจากที่ลดลงถึงระดับ 143.69 เยน โดยสกุลเงินยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากความคาดหวังในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางญี่ปุ่น ด้านข้อมูลเงินเฟ้อใน โตเกียว ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ก็คาดการว่าจะให้เบาะแสเพิ่มเติม
คู่เงิน USDCNY ของหยวนจีนปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ท่ามกลางความกังวลที่ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับสงครามการค้ากับตะวันตก หลังจากแคนาดาเข้าร่วมกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในการเรียกเก็บภาษีการค้ากับภาคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปักกิ่งได้ประณามการกระทำดังกล่าวและอาจจะมีมาตรการตอบโต้เกิดขึ้นได้
คู่เงิน USDKRW ของวอนเกาหลีใต้ปรับขึ้น 0.8% ขณะที่คู่เงิน USDSGD ของดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวขึ้น 0.2%
คู่เงิน USDINR ของรูปีอินเดียทรงตัวหลังจากที่ทดสอบระดับ 84 รูปี ซึ่งอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์