Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าในวันนี้ เนื่องจากเงินดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบสองเดือน ขณะที่ความอ่อนแอของเงินเยนทำให้เกิดความระมัดระวังเกี่ยวกับมาตรการแทรกแซงจากโตเกียว
ความเชื่อมั่นต่อตลาดภูมิภาคยังถูกบั่นทอนด้วยความกลัวในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหภาพยุโรป หลังจากเจ้าหน้าที่จีนได้กล่าวเตือนถึงมาตรการตอบโต้ภาษีของยุโรปที่ทำต่อรถยนต์ไฟฟ้าของจีน
ตลาดยังปรับตัวจากข้อมูล PMI ของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทำให้เงินไหลเข้าสู่ดอลลาร์อย่างหนักและออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ
USDJPY ใกล้ระดับ 160 ท่ามกลางความกังวลการแทรกแซง
เงินเยนถือเป็นจุดโฟกัสที่สำคัญที่สุดในบรรดาสกุลเงินเอเชียวันนี้ เนื่องจากคู่เงิน USDJPY ซึ่งวัดจำนวนเยนที่ต้องใช้ในการซื้อหนึ่งดอลลาร์ ขยับใกล้ระดับ 160 เยน
ระดับดังกล่าวถือเป็นระดับสูงสุดของคู่เงินตั้งแต่ปี 1986 และเคยดึงดูดการแทรกแซงจากรัฐบาลในตลาดเงินตราในเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้คู่เงิน USDJPY ลดลงไปต่ำถึง 151
ความอ่อนแอของเยนได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นหลายคนกล่าวเตือนถึงการแทรกแซงเพิ่มเติม Masato Kanda นักการทูตด้านค่าเงินชั้นนำกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะ "แทรกแซงตลอด 24 ชั่วโมงหากจำเป็น"
ความเห็นของเขาได้สร้างแรงหนุนบางส่วนให้กับเงินเยน ทำให้คู่เงิน USDJPY ลดลงสู่ 159.7 เยน
เงินหยวนและเงินเอเชียอ่อนค่าท่ามกลางความตึงเครียดกับสหภาพยุโรป
คู่เงิน USDCNY ของหยวนจีนทรงตัวที่ระดับสูงสุดในรอบเจ็ดเดือนในวันนี้ เนื่องจากเงินหยวนถูกกดดันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพยุโรปเลวร้ายลง
เจ้าหน้าที่จีนได้กล่าวในช่วงสุดสัปดาห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้ากับสหภาพยุโรปจากเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีน ซึ่งรัฐมนตรีจากเยอรมนีและจีนก็มีกำหนดการณ์พบปะกันในสัปดาห์นี้
ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าทำให้เทรดเดอร์หลีกเลี่ยงสกุลเงินที่มีความเสี่ยง ซึ่งทำให้ค่าเงินในเอเชียส่วนใหญ่อ่อนลง โดยคู่เงิน AUDUSD ของดอลลาร์ออสเตรเลียขยับลง 0.1% ขณะที่คู่เงิน USDKRW ของวอนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 0.1%
คู่เงิน USDSGD ของดอลลาร์สิงคโปร์ขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่คู่เงิน USDINR ของรูปีอินเดียปรับลง 0.1% แต่ยังคงใกล้ระดับสูงสุดล่าสุด
เงินดอลลาร์แข็งแกร่ง จับตาข้อมูลเงินเฟ้อ PCE
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ต่างก็ปรับขึ้นเล็กน้อยในตลาดเอเชียและอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูล PMI ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งจะให้พื้นที่มากขึ้นแก่ธนาคารกลางสหรัฐในการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้สูงต่อไป
ความสนใจของตลาดในตอนนี้จึงอยู่ที่ข้อมูลดัชนีราคา PCE :7j’เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญและมีกำหนดการณ์เปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยรายงานดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัจจัยในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยต่อไป