โดย Barani Krishnan
Investing.com - ภาพรวมของตลาดพลังงานและโลหะมีค่าในสัปดาห์นี้มีดังต่อไปนี้
ภาพรวมตลาดพลังงาน
หลังจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ล่าสุดลดลงไป 7 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาสัญญา WTI พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ $58.29 และ สัญญาเบรนท์ อยู่ที่ $63.26 ทว่าหลังจากนั้นตลาดกลับย่อตัวลงเนื่องด้วยข่าวการปลดนายบอลตันผู้เป็นอริสำคัญของอิหร่าน
ในวันพฤหัสบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุฯ คนใหม่ เจ้าชายอับดุลาซิส บิน ซัลมาน ได้ประกาศแก่กลุ่มผู้ผลิตในเครือ OPEC+ ซึ่งรวมถึงประเทศรัสเซียด้วยว่า ซาอุฯ ยังคงสมัครใจที่จะลดกำลังการผลิตเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ร่วมกัน
โดยก่อนหน้านี้ในรายงานประจำเดือนที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ กลุ่ม OPEC ได้คาดการณ์ไว้ว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2020 จะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 29.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมาจากปีนี้ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยขณะนี้ สหรัฐฯ ได้กลายเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของกลุ่ม OPEC ในปีนี้ เห็นได้จากหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันได้ถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในฐานะประธานการประชุมของกลุ่ม OPEC เจ้าชายอับดุลาซิสเผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ในเดือนตุลาคมจะอยู่ที่ 9.890 ล้านบาร์เรล และจะมีการหารือเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายน
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากลที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีสก็ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มอุปทานน้ำมันเกินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และชี้ว่าผลกระทบจากการชดเชยความเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันเริ่มลดลง หลังจากความขัดแย้งที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเริ่มคลี่คลายลง และการดำเนินงานในภาคการผลิตน้ำมันดูเหมือนว่าจะเริ่มกลับมาสู่สภาพปกติอีกครั้ง
ปฏิทินตลาดพลังงานสัปดาห์นี้
วันจันทร์ที่ 16 กันยายน
ตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก Genscape Cushing (ตัวเลขจากภาคเอกชน)
วันอังคารที่ 17 กันยายน
รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังรายสัปดาห์จาก สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา
วันพุธที่ 18 กันยายน
รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังรายสัปดาห์ จาก EIA
ผลการประชุมนโยบายทางการเงินของเฟด
วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน
รายงานปริมาณ ก๊าซธรรมชาติ คงคลังรายสัปดาห์ จาก EIA
วันศุกร์ที่ 20 กันยายน
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันจาก Baker Hughes
ภาพรวมตลาดโลหะมีค่า
แม้ ECB ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่สัปดาห์ที่แล้วราคาทองคำกลับไม่สามารถทะยานขึ้นได้มากเท่าที่ควร
สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าสหรัฐฯ สำหรับการส่งมอบเดือนธันวาคม มีราคาปิดอยู่ที่ $1,499.50 ต่อออนซ์ ในตลาดโคเม็กซ์ของนิวยอร์ค เมอร์แคนไทล์ เอ็กซ์เชนจ์ ทำผลงานรายสัปดาห์ที่ติดลบลงไป 1.1% ติดลบเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน และเป็นขาลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน
ราคาทองคำโลก ก็ยังคงอยู่ใต้ระดับ $1,500 โดยมีราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1,488.74 ติดลบรายสัปดาห์ 1.2% เป็นสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทองคำจะทะลุกรอบราคาขึ้นไปได้หลังจากธนาคารกลางยุโรปลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -0.5% และให้คำมั่นว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไปอีกนาน อีกทั้งยังรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรมูลค่า 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนอีกด้วย
การกระทำดังกล่าวของยูโรโซนได้สร้างแรงกดดันต่อเฟดที่กำลังจะมีการประชุมนโยบายในวันที่ 17-18 กันยายนนี้อย่างมาก
แต่ข่าวดีจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงยอดค้าปลีกและดัชนีความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ จึงทำให้ทองคำไม่สามารถทะลุกรอบราคาไปได้เมื่อวันศุกร์ และลดความคาดหวังของตลาดว่าเฟดจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยราว 50 จุด โดยเมื่ออ้างอิงจาก เครื่องมือติดตามอัตราดอกเบี้ยเฟด ของ Investing.com แล้ว พบว่าตลาดถึง 78.5% เชื่อว่าเฟดจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 25 จุดอย่างแน่นอน
TD Securities เผยความเห็นด้านตลาดโลหะมีค่ากับ Investing.com ว่า “ตัวแปรสำคัญที่จะบ่งบอกทิศทางของราคาทองคำ คือการส่งสัญญาณว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้"
และธนาคารแห่งหนึ่งในแคนาดาก็มีความเห็นว่า “หากเฟดไม่เปิดโอกาสให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต และแผนภาพแบบจุดไม่แสดงให้เห็นแผนการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 75 จุดในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันให้กับราคาทองคำ"