InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (6 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มปริมาณน้ำมันตึงตัวในตลาดโลก แต่ราคาน้ำมันยังคงลดลงอย่างมากในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า ราคาน้ำมันที่อาจพุ่งถึงระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 48 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 82.79 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 8.8% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 84.58 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 8.3% ในรอบสัปดาห์นี้
ตลาดน้ำมันยังคงได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าปริมาณน้ำมันอาจจะตึงตัว หากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวและมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น รวมทั้งหากกลุ่มโอเปกและประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดปริมาณการผลิต
ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะปริมาณน้ำมันตึงตัว โดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียได้ตัดสินใจปรับลดการผลิตน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบียจะยังคงปรับลดการผลิตไปจนถึงสิ้นปี และรัสเซียปรับลดการส่งออกน้ำมันลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็ยังคงถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (6 ต.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ส่วนอัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ระดับ 3.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลงสู่ระดับ 3.7%
สำหรับตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ