- สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจในฝั่งยุโรปและเอเชียฟื้นตัวต่อเนื่องและดีกว่าคาด ขณะที่ในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับแย่กว่าที่ตลาดมองไว้
- ติดตามรายงานจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ และการประชุมเฟด โดยเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวหนักกว่าที่ตลาดคาดไว้ และเฟดก็คงมุมมองใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปอีกนาน
- ทั้งนี้ ดอลลาร์อาจมีแรงหนุน จากความกังวลการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ในยุโรปและเอเชีย ขณะเดียวกันแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือนก็อาจช่วยพยุงเงินดอลลาร์ให้ไม่อ่อนค่าไปมากได้
- กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.30-31.80 บาท/ดอลลาร์
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันพฤหัสฯ เราคาดว่า FOMC จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Target Rate) ไว้ที่ระดับ 0.00-0.25%จากภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก จะทำให้เฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน (Lower for Longer) และมีมุมมองพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หากจำเป็น ทั้งนี้ตลาดจะรอดูความเห็นของเฟดต่อเครื่องมือนโยบายการเงินที่อาจถูกนำมาใช้เพิ่มเติม อาทิ Yield Curve Control หรือ ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ
- ฝั่งสหรัฐฯ –ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะหดตัวกว่า 35% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวราว 5% ในไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งตลาดพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากสภาคองเกรสสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ได้ภายในสัปดาห์นี้
- ฝั่งยุโรป – อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน จะช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 หดตัวราว 12% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจดีกว่าฝั่งสหรัฐฯชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาสินทรัพย์ในฝั่งยุโรป อาทิ ค่าเงินยูโร รวมถึงตลาดหุ้นยุโรป
- ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชียจะดีขึ้นต่อเนื่อง ชี้จากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนที่จะขยายตัวราว 8%จากเดือนก่อน ดีขึ้นจากที่ขยายตัวได้ 1.9% ในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของญี่ปุ่นก็จะพลิกกลับมาขยายตัวราว 1%จากเดือนก่อน ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่าทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการจะขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการบริการ (Official Manufacturing and Services PMIs) ที่ระดับ 50.8จุด และ54.5จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50จุด หมายถึงภาวะการขยายตัว)
มุมมองนโยบายการเงิน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก