จากวันที่บิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นในปี 2009 มาจนถึงวันนี้ปี 2021 เชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้เรามีสกุลเงินดิจิทัลมากถึง 10,332 สกุลเงินแล้ว นอกจากบิทคอยน์ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนทองคำของโลกดิจิทัล เรายังมีอีเธอเรียมที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนแพลตฟอร์มผู้ก่อให้เกิดการต่อยอดในโลกคริปโตฯ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า DeFi ในปัจจุบัน หรือแม้แต่สายเน้นศรัทธาไม่เน้นมูลค่า หลักการณ์และเหตุผลใดๆ โลกคริปโตฯ ก็มีเหรียญอย่างโดจคอยน์เอาไว้ให้คุณได้ลองลงทุนรับความเสี่ยงเล่นๆ
พูดไปแล้วก็น่าทึ่ง ลองคิดดูสิว่าในปี 2010 เหรียญบิทคอยน์ยังมีมูลค่าอยู่เพียงห้าเซนต์ แต่พอมาถึงวันนี้ บิทคอยน์กลับเคยมีมูลค่ามากที่สุดถึง $65,520 ถูกสร้างขึ้นในวันที่ 14 เมษายน (วันเดียวกับที่คอยน์เบส (NASDAQ:COIN) ถูกลิสต์ขึ้นแนสแด็ก) จากปี 2010 มาจนถึงปี 2021 จากการจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มเด็กเนิร์ดมาจนถึงการซื้อขายจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างสแควร์ (NYSE:SQ) หรือเทสลา (NASDAQ:TSLA) ถือได้ว่าพัฒนาการของวงการสกุลเงินดิจิทัลเติบโตมาได้ไกลเป็นอย่างมาก
แต่ก็ไม่ใช่ว่าขาขึ้นที่ผ่านมาของสกุลเงินดิจิทัลจะเต็บไปด้วยกลีบกุหลาบ ครั้งหนึ่งในปี 2014 มูลค่าของเหรียญบิทคอยน์เคยร่วงลงพร้อมกับการล่มสลายของแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ‘Mt. Gox’ จึงไม่ต้องแปลกใจหากในปี 2021 นี้คุณจะได้เห็นข่าวอย่างเช่นเทสลาเลิกรับบิทคอยน์แล้วเพราะโลกร้อน หรือจีนพยายามสกัดกั้นคริปโตเคอเรนซี่จากโลกภายนอกทุกทางเพื่อเปิดทางให้สกุลเงินดิจิทัลของตัวเองอย่างดิจิทัลหยวน ยิ่งสกุลเงินดิจิทัลเติบโตไปมากเท่าไหร่ เหรียญเหล่านี้ก็ต้องยิ่งเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสากลมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา: CQG
ก่อนที่จะไปถึงหัวข้อของเรา ขอสรุปสถานการณ์ปัจจุบันของเหรียญทั้งสองกันสักหน่อย รูปนี้เป็นรูปของกราฟซื้อขายบิทคอยน์ล่วงหน้ารายสัปดาห์ เราจะเห็นว่าราคาได้ปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดตลอดกาล $65,520 ลงมายังจุดต่ำสุดที่ $30,205 ขาลง 53.9% นี้ใช้เวลาเพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้น ถือเป็นการตอกย้ำให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่คิดจะเป็นเศรษฐีภายในชั่วข้ามคืนว่าตลาดแห่งนี้มีความเสี่ยงและผันผวนอยู่สูงแค่ไหน
ที่มา: CQG
ภายในช่วงเวลาเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลอันดับสองอย่างอีเธอเรียมก็ได้ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลเอาไว้ที่ $4,406 ในวันที่ 10 พฤษภาคม ก่อนที่จะร่วงลงมายัง $2,062 คิดเป็นขาลง 53.2% ภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์
หากวัดกันเฉพาะจุดสูงสุดตลอดกาลเทียบกับระดับราคาที่ใกล้กับปัจจุบันที่สุด (8 มิถุนายน) จะพบว่ามูลค่าของเหรียญบิทคอยน์นั้นลดลงมากกว่าอีเธอเรียม จาก $65,520 ของบิทคอยน์ลงมายัง $32,000 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเท่ากับว่าบิทคอยน์ได้ปรับตัวลดลงมา 51% ในขณะที่อีเธอเรียมปรับตัวลดลงมาจาก $4,406.50 ลงมายัง $2,410 คิดเป็นขาลงเพียง 45.3% เท่านั้น
แต่หากพิจารณาเทียบมูลค่าตลาดของเหรียญทั้งสอง จะพบว่าบิทคอยน์ยังนำห่างอีเธอเรียมอยู่มาก ในวันที่ 8 มิถุนายน มูลค่าตลาด (market cap) ของบิทคอยน์มีตัวเลขอยู่ที่ $602,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อีเธอเรียมรั้งอันดับสอง มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ $279,611 ล้านเหรียญสหรัฐ หากวัดจากมูลค่าตลาดสกุลเงินดิจิทัลรวมทั้งหมด $1.462 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะพบว่าบิทคอยน์มีสัดส่วนอยู่ที่ 41.3% และอีเธอเรียมมีสัดส่วนอยู่ที่ 19.2%
จริงอยู่ว่าหากพิจารณาเฉพาะตัวเลขที่กล่าวมาในตอนนี้ กว่าอีเธอเรียมจะเติบโตในเชิงของมูลค่าตลาดขึ้นมาเทียบเท่าบิทคอยน์ได้ ยังต้องใช้เวลา แต่หากมองในเชิงของความคิดสร้างสรรค์หรือการต่อยอด ตอนนี้ต้องยอมรับว่าอีเธอเรียมถือเป็นเหรียญที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ในขณะที่บิทคอยน์ทำหน้าที่ได้เป็นเพียงที่เก็บรักษามูลค่า นักวิเคราะห์บางคนถึงกับให้นิยามว่าหากบิทคอยน์คือผู้สร้างโลกสกุลเงินดิจิทัล 1.0 งั้นอีเธอเรียมก็คือผู้ต่อยอดโลกสกุลเงินดิจิทัลให้ก้าวเข้าสู่ยุค 2.0
เป้าหมายและการใช้งานของบิทคอยน์และอีเธอเรียมนั้นต่างกัน
จุดกำเนิดของบิทคอยน์เริ่มต้นมาจากคนหรือกลุ่มคนที่ใช้นามแฝงว่า ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ ต้องการปลดแอกระบบการเงินออกจากภาครัฐ เขามีแนวคิดว่าการปล่อยให้อำนาจการควบคุมเงินอยู่ที่ภาครัฐเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และควรเป็นเจตจำนงเสรีของแต่ละบุคคลที่ต้องการแลกเปลี่ยนเงินตรากันโดยไม่มีตัวกลางมาควบคุม ดังนั้นเขาจึงสร้างสกุลเงินกลางขึ้นมาบนระบบบล็อกเชนที่จะให้คนในระบบสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมกันเอง โอนบิทคอยน์ที่เป็นตัวแทนของการแลกเปลี่ยนมูลค่าระหว่างกันเอง โดยที่ไม่มีคนกลาง (อย่างเช่นธนาคารกลาง) เข้ามาควบคุม
และเพื่อต่อต้านความสามารถในการพิมพ์เงินอย่างไร้ขีดจำกัดของธนาคารกลาง ซาโตชิจึงได้กำหนดให้บิทคอยน์มีเหรียญอยู่ในระบบเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น มีความสามารถในการย่อยเหรียญตัวเองให้มีจำนวนลดลงเมื่อเหรียญถูกขุดมากขึ้น จากที่มีการคำนวณ การแบ่งเหรียญครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในปี 2024 การที่บิทคอยน์มีจำนวนจำกัดจึงทำให้มันกลายเป็นสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าเมื่อปริมาณลดลง และนั่นคือสิ่งที่บิทคอยน์กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่ากันว่าตอนนี้เหรียญบิทคอยน์ที่มีอยู่ในระบบได้ถูกขุดออกมาแล้วประมาณ 90% หรือคิดเป็น 18.6 ล้านเหรียญบิทคอยน์
สำหรับอีเธอเรียมนั้นมีเป้าหมายการใช้งานที่ต่างจากบิทคอยน์โดยสิ้นเชิง อีเธอเรียมไม่ต้องการเป็นสกุลเงินกลางตัวใหม่ของโลก แต่ต้องการเป็นพื้นที่แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนที่สนใจในโลกสกุลเงินดิจิทัลมาต่อยอด สร้างสรรระบบการเงินบนแพลตฟอร์มของอีเธอเรียม แม้แต่รูปแบบการเกิดมาของเหรียญระหว่างบิทคอยน์และอีเธอเรียมก็ยังต่างกัน บิทคอยน์ใช้สิ่งที่เรียกว่า “Proof of Work (PoW)” เป็นแหล่งกำเนิดเหรียญ ในขณะที่อีเธอเรียมใช้ “Proof of Stake (PoS)”
อันที่จริง การเติบโตของอีเธอเรียมมีบทบาทกับโลกคริปโตมาโดยตลอด ในปี 2017 ตอนที่บิทคอยน์กำลังทะยานขึ้นสู่ $20,000 ในตอนนี้คนก็ใช้แพลตฟอร์มของอีเธอเรียมในการทำ ICO หรือการให้คนมาถือเหรียญของตนเหมือนกับการถือหุ้น และในปี 2021 นี้ อีเธอเรียมก็ได้เปิดประสบการณ์การลงทุนในโลกดิจิทัลแบบใหม่ เมื่อเราสามารถ ฝาก กู้ ยืม ทำธุรกรรมได้เหมือนกับโลกปกติในโลกที่มีชื่อว่า “Decentralized Finance (DeFi)”
อีเธอเรียมมีโอกาสไปได้ไกลกว่าบิทคอยน์
เชื่อว่าเล่ามาถึงตรงนี้หลายคนคงจะเห็นภาพกันแล้วว่าอีเธอเรียมยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในโลกอนาคต ในขณะที่บิทคอยน์ทำหน้าที่เป็นเพียงสกุลเงินกลางที่นอกจากเก็บรักษามูลค่าแล้ว ก็ไม่สามารถทำอะไรเพิ่มได้อีก แต่สำหรับอีเธอเรียมนั้นกลับยังสามารถต่อยอดในโลกของสกุลเงินดิจิทัลได้อีกไกล อย่างเช่นที่เราได้เห็นการเติบโตของโลก DeFi ในทุกวันนี้
หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าอีกไม่นานอีเธอเรียมจะต้องสามารถกินส่วนแบ่งทางการตลาดจากบิทคอยน์มาได้มากยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่บิทคอยน์ยังคงอยู่ที่เดิม แต่อีเธอเรียมกลับเปิดพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรร และนวัตกรรมในโลกทางการเงิน หรือการใช้บล็อกเชนในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย
DeFi คือความหวังใหม่สำหรับอีเธอเรียมอย่างแท้จริง
ยิ่งวงการ DeFi เติบโตมากเท่าไหร่ บทบาทของอีเธอเรียมก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น หากว่าสุดท้ายแล้วคริปโตเคอเรนซี่สามารถเข้ามาแทนที่สิ่งที่โลกการเงินในรูปแบบเดิมๆ สามารถทำได้ อีเธอเรียมก็จะกลายเป็นผู้ครองโลกและยกระดับวงการคริปโตฯ ให้ขึ้นไปอีกขั้น ถึงแม้ว่าอีเธอเรียมจะเกิดมาหลังบิทคอยน์ มีประวัติศาสตร์น้อยกว่า แต่ในแง่ของการต่อยอดต้องยอมรับว่าอีเธอเรียมสามารถไปได้ไกลกว่าบิทคอยน์มาก
ข้อดีอย่างหนึ่งที่อีเธอเรียมจะเป็นต่อมากกว่าบิทคอยน์ในอนาคตคือการใช้ “Proof of Stake” เป็นโปรโตคอลหลัก เพราะ PoS นั้นไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ PoW ของบิทคอยน์ทำ ยิ่งทำให้อีเธอเรียมมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของผู้คนยุคปัจจุบันที่หันไปทางไหนก็มีแต่คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ยิ่งถ้าได้อีลอน มักส์มาสนับสนุนอีก (ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าเขาจะมา) จะยิ่งทำให้มูลค่าของเหรียญอีเธอเรียมมีค่ามากขึ้น นโยบายของบริษัทเทสลาที่รักษ์โลกนั้นสอดคล้องกับ PoS และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามอีเธอเรียมก็เหมือนกับสกุลเงินอื่นๆ ที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของอีเธอเรียมคือไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองเรื่องการใช้พลังงานสะอาดแล้ว เหลือเพียงเรื่องของกฎหมายและความปลอดภัยเท่านั้นที่ยังจะต้องผ่านความท้าทายของกระแสโลก จะเป็นอย่างไรหากรัฐบาลเป็นคนยื่นข้อเสนอขอเข้ามาควบคุมอีเธอเรียมเอง? หรือภาครัฐจะสามารถสร้างระบบการเงินที่เลียนแบบโมเดล DeFi? นี่คือช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับโลกการเงินเป็นอย่างมาก