จับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยและสหรัฐฯ พร้อมติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด
- ควรติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟดและECB) และระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยและสหรัฐฯ
- โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้เลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทว่าเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนในช่วงตลาดกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงกว่าคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้ ในส่วนของค่าเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไป หลังโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มชะลอลง แต่แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกดดันเงินบาทอยู่ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
32.85-33.65 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
- ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกันยายน รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectations) ระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้เลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด และเริ่มกลับมามีมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใกล้เคียงกับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ล่าสุดของเฟดมากขึ้น
- ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนตุลาคม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด
- ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตค่าจ้างของญี่ปุ่น เพื่อประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจลดดอกเบี้ย -50bps สู่ระดับ 4.75% หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ทยอยเข้าสู่เป้าหมายของ RBNZ ส่วนธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ก็อาจลดดอกเบี้ย -25bps สู่ระดับ 3.25% หลัง BOK ลดความกังวลต่อปัญหาราคาอสังหาฯ และแนวโน้มเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน อนึ่ง ตลาดมองว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.50% ทว่า RBI ก็อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้ หลังเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอลงต่อเนื่องจนล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ RBI
- ฝั่งไทย – ควรรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายน ส่วนอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกันยายนนั้น เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 0.62% (-0.09%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจยังคงอยู่แถวระดับ 0.7% และโดยรวมอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง