Economic Highlight
ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด BOE และECB)
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับที่เราประเมิน ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนซึ่งหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) และบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น
- แม้ว่าเงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทน่าจะเริ่มชะลอลง และซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เงินบาทเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways รวมถึงมีจังหวะอ่อนค่าลงได้บ้าง
- โดยต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาตามคาด หรือไม่ได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลงหนัก ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง เปิดโอกาสให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น
- ในทางกลับกัน เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยได้
- อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนเช่นกัน หลังในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้นชัดเจน ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน จากการที่ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเงินบาทก็ถือว่า เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (CNY) พอสมควร
- นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสทยอยขายทำกำไรสถานะลงทุนในสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ ได้บ้าง ตามสัญญาณเชิงเทคนิคัลของดัชนี SET ที่เสี่ยงย่อตัวในระยะสั้น ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยก็ปรับตัวลดลงมาพอสมควร รับรู้ทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดและธนาคารแห่งประเทศไทยไปมากแล้ว
- ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำจะยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ควรจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องรอลุ้นว่า ตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะมีพัฒนาการอย่างไร
- สัญญาณจาก RSI MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวัน สำหรับ USDTHB สะท้อนว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังคงมีอยู่ แต่อาจชะลอลงได้บ้าง หลังภาพ RSI Bullish Divergence ก็ยังคงอยู่ พร้อมเปิดโอกาสให้เงินบาท อาจแกว่งตัว sideways หรืออ่อนค่าลงเล็กน้อยได้
- เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงเหนือโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน
- ส่วนสัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H4 และ H1 สะท้อนว่า เงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้าง หรือ อย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways นอกจากนี้สัญญาณ RSI Bullish Divergence ก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Time Frame H1 หรือ H4
- โดยรวม เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทจะมีแนวรับแรกแถว 32.20-32.30 บาทต่อดอลลาร์ และแนวรับสำคัญ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาททยอยอ่อนค่าลงบ้าง ก็อาจติดโซนแนวต้านแรกแถว 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีแนวต้านถัดไปแถว 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ และแนวต้านสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ สวนทางกับที่เราประเมินไว้ ท่ามกลางความหวัง การเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงขึ้น
- แม้ว่า โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังมีอยู่ แต่เราเริ่มเห็นความเปราะบางของการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ดังจะเห็นได้จากในช่วงหลัง ราคาทองคำเริ่มผันผวนสูงขึ้น และดูจะเริ่มติดโซนแนวต้าน ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัดลง และมีโอกาสที่จะเห็นการพักฐานของราคาทองคำได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่น่ากังวล
- สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดนั้น ผู้เล่นในตลาดยังคงมองต่างจาก Dot Plot ใหม่ของเฟดพอสมควร ทำให้ต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด
- ส่วนประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางนั้น เราอาจมองต่างจากตลาดบ้าง โดยเราประเมินว่า ปฏิบัติการสังหารผู้นำระดับสูงของกลุ่ม Hezbollah ล่าสุด จะลดขีดความสามารถในการตอบโต้รวมถึงปฎิบัติการต่างๆ จากฝั่ง Hezbollah และพันธมิตร Axis of Resistance พอสมควร ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูลดลงในระยะสั้นได้
- หากภาพสถานการณ์ตะวันออกกลางเป็นไปตามที่เราประเมินไว้ และตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เรามองว่า ราคาทองคำก็เสี่ยงเข้าสู่ช่วงปรับฐาน (Correction) ได้ไม่ยาก
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD Time Frame รายวัน ชี้ว่า โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังคงอยู่ แต่ราคาทองคำก็เสี่ยงย่อตัว หลังเข้าสู่โซน RSI Overbought ขณะที่ Stochastic สะท้อนว่า ราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลงบ้าง
- ส่วนในภาพ Time Frame H4 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD สะท้อนว่า ราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลงบ้าง และยังคงเห็นภาพ RSI Bearish Divergence อยู่ ขณะที่ Stochastic ชี้ว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways
- และสำหรับ Time Frame H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ Stochastic สะท้อนว่า โมเมนตัมขาขึ้นของราคาทองคำอาจชะลอลงบ้าง เปิดโอกาสที่ราคาทองคำอาจย่อตัวลงระยะสั้น ส่วนสัญญาณจาก MACD ชี้ว่า ราคาทองคำอาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง จากโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- โดยรวม เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจมีค่อนข้างจำกัดและเริ่มเห็นความเสี่ยงการย่อตัวลงบ้าง ทำให้ราคาทองคำอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยมีแนวต้านระยะสั้น คือ แถวจุดสูงสุดใหม่ 2,686 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโซนแนวรับแรกแถว 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์