Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบแรกและการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ชะลอลงตามคาด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาผสมผสาน ก็สามารถช่วยชะลอลงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
- เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ในช่วงต้นสัปดาห์ หากเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส หลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสภารอบแรก
- อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หากเงินปอนด์ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แต่อาจจะเล็กน้อย) ในกรณีที่ พรรคแรงงาน (Labour Party) สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ได้ตามที่ตลาดคาด
- นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ยังมีโอกาสทยอยผันผวนอ่อนค่าต่อได้ ตราบใดที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ย่อตัวลงชัดเจน ซึ่งการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่นอาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ต้องระวังการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น หากเงินเยนผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรง
- เรามองว่า ยังคงต้องติดตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ที่อาจมีผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้
- โดยราคาทองคำยังมีความเสี่ยงที่จะย่อตัวลงสู่โซนแนวรับแถว 2,290-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็อาจยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่ ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มกลับมาร้อนแรงขึ้น และความหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ราว 2 ครั้ง
- แนวโน้มค่าเงินหยวน (CNY) ของจีนก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา หลังเงินหยวนได้ผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา และหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน อย่าง ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจยิ่งกดดันเงินหยวน รวมถึงบรรดาสกุลเงินเอเชียได้
- และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจผันผวนไปตามความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยเรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวัน และ H1 H4 ต่างสะท้อนว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่ชะลอลง ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways up หรือ sideways
- โดยเงินบาทอาจยังมีโซนแนวต้านแรกแถว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ และ แนวต้านถัดไป 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับหลักจะอยู่แถว 36.65 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน และแนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน)
Gold Highlight
- ราคาทองคำยังคงแกว่งตัว sideways ตามที่เราประเมินไว้ในสัปดาห์ก่อน โดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ ทว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้นและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ
- เรายังคงประเมินว่า การปรับฐานของราคาทองคำอาจยังไม่จบ และราคาทองคำก็อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และตลาดคลายกังวลความเสี่ยงการเมืองยุโรป (จับตาผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบแรก) ซึ่งจะช่วยลดทอนโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
- ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้ง ดัชนี ISM PMI และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด หรือ สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น
- เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำและต่างก็รอจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงในการทยอยเข้าซื้อ ทั้งนี้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ราว 20-30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, Stochastic และ MACD (Time Frame รายวัน และ H4 H1) ชี้ว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบไปก่อน โดยเรามองว่า ราคาทองคำอาจยังพอมีแนวรับแรกแถว 2,290-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และอาจมีลุ้นปรับตัวขึ้นต่อได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นเหนือแนวต้าน 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์