Economic Highlight
ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ควรจับตา ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด BOE และ BOJ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังคงได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ส่งผลให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลง แม้ว่าเงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดก็ตาม
- เรามองว่า สถานการณ์สงครามที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือ เงินดอลลาร์ รวมถึงสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อื่นๆ เช่น ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่ารุนแรง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
- อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงบานปลายมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องติดตามท่าทีของทางการอิหร่านอย่างใกล้ชิด
- อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด BOE และ BOJ
- โดยในส่วนของการประชุมเฟดและ BOE อาจไม่ได้ “เซอไพรส์” ผู้เล่นในตลาด ทว่า ควรระวังผลการประชุม BOJ เพราะหาก BOJ เริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าได้พอสมควร
- นอกจากนี้ ควรจับตาการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม
- ขณะเดียวกัน ควรจับตารายงานดัชนี PMI ของจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินหยวน และตลาดหุ้นจีน/ฮ่องกงได้
- ส่วนปัจจัยในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาท คือ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งอาจผันผวนไปตามบรรยากาศในตลาดการเงิน ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway หรืออาจจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้
- นอกจากนี้ ในส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ชี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น โดยต้องจับตาโซนแนวรับแรกแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็จะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าลงต่อ ก็อาจยังติดโซนแนวต้านแรกแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านถัดไป
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ทวีความร้อนแรงขึ้น
- สัปดาห์นี้ ควรจับตาสถานการณ์สงคราม รวมถึงมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดอย่างใกล้ชิด (จับตาผลการประชุมเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ)
- แม้ในช่วงนี้ ราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากปัจจัยสงคราม แต่หากตลาดคลายความกังวลสถานการณ์สงคราม แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ จะกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางราคาทองคำ
- ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงได้พอสมควร หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือเฟดยังส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ หนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมขาขึ้นของราคาทองคำยังคงมีอยู่ ทว่า ราคาทองคำก็เริ่มเข้าสู่โซน RSI Overbought ส่วน สัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 เริ่มมีการส่งสัญญาณว่า ราคาทองคำ เสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้บ้าง จากสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI (H4) และ สัญญาณ RSI Overbought บน H1
- เราคงแนะนำให้ ผู้เล่นในตลาดที่ได้ทยอยซื้อทองคำในช่วงก่อนหน้า จนล่าสุด Risk-Reward เกิน 1:2 แล้ว ก็สามารถทยอยขายทำกำไรได้ ส่วนผู้เล่นฝั่ง Short อาจรอดูสัญญาณที่ชัดเจนก่อน