Economic Highlight
ปัจจัยภายนอกที่รอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้เช่นกัน
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.
FX Highlight
- เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
- เรามองว่า Upside ของเงินดอลลาร์ยังพอมี โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างการจ้างงาน ออกมาดีกว่าคาด และสภาคองเกรสได้มีมติขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ
- อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเริ่มจำกัดลง เนื่องจากเรามองต่างจากผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% แทนการขึ้นดอกเบี้ย หลังภาวะสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนตึงตัวขึ้นมาก
- นอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์ ค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนของจีนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า ควรจับตาทิศทางของเศรษฐกิจจีนและตลาดการเงินจีนควบคู่ไปด้วยในระยะนี้
- ปัจจัยการเมืองในประเทศ จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์ฝั่งหุ้น
- ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในส่วนตลาดบอนด์ อาจพอได้ลุ้นการกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
- นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ยังมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท คือ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยหากราคาทองคำย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ ก็อาจมีโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
- ในเชิงเทคนิคัล การอ่อนค่าลงของเงินบาทในสัปดาห์ก่อน ทำให้สัญญาณจาก RSI และ MACD ยังคงชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways up หรืออ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเรามองว่า แนวต้านสำคัญคือ โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่เราคิด ก็มีโอกาสที่จะอ่อนค่าต่ออย่างรวดเร็วไปสู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่เรายังคงเน้นย้ำมุมมองเดิมว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้าแถว 35.40 บาทต่อดอลลาร์ หรือไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากในโซนดังกล่าวค่าเงินบาทถือว่ามี valuation อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการเพิ่มสถานะ Long THB ในส่วนของแนวรับนั้น จะยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้ จนกว่าจะเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาตลาดทุนไทยที่ชัดเจน
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
- เราประเมินว่า การปรับฐานของราคาทองคำอาจยังดำเนินต่อไปได้ โดยต้องจับตาว่า ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นหรือยังสามารถแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับ 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้หรือไม่ เพราะหากราคาทองคำหลุดโซนดังกล่าวก็อาจเปิดทางให้ย่อลงต่อทดสอบแนวรับถัดไปแถว 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- ทั้งนี้ เราคาดว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัด หากพิจารณาจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า แนวต้านสำคัญจะอยู่ที่ช่วง 3.90% ซึ่งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ขยับขึ้นมาแถว 3.81% ทำให้เหลือการปรับตัวขึ้นอีกไม่มาก อีกทั้งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ที่ผ่านมาก็สะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปพอสมควร ทำให้เราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างจำกัด
- เช่นเดียวกันกับในฝั่งเงินดอลลาร์ Upside ก็อาจเริ่มจำกัดเช่นกัน ทำให้เรามองว่า ควรเริ่มจับตาหาจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด
- อย่างไรก็ดี ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อนั้น ต้องรอจับตา 1) ความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ 2) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ 3) ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ 4) บรรยากาศในตลาดการเงิน
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD ยังคงชี้ว่า ราคาทองคำอาจมีโอกาสแกว่งตัวลดลง sideways down หรือ sideways ในกรอบใหม่ ทั้งนี้ เราจะรอจับตาว่า จะเกิดสัญญาณการกลับตัวบ้างหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดสัญญาณการกลับตัว อาทิ RSI Divergence และการตัดกันของ MACD ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้น กลับมาเป็นขาขึ้นได้เช่นกัน
- เราคงเป้าราคาทองคำไว้ที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะราคาทองคำปรับฐานในการทยอยเข้าซื้อได้ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำได้หลุดแนวรับแถว 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรชะลอการเข้าซื้อ เพื่อรอสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน