สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นภายในธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้พบเห็นกันบ่อยๆ กับจังหวะที่อยู่ดีๆ ประธานเฟดสองคนที่พึ่งเข้าร่วมการประชุมเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน จะไม่เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการนนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนอีกแล้ว
โรเบิร์ต เคปแลน ประธาน (ตอนนี้ต้องใช้คำว่าอดีต) ธนาคารกลางสหรัฐสาขาดัลลัสประกาศลาออกหลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลว่าเขาสามารถทำเงินได้หลายร้อยล้านดอลลาร์จากการเทรดหุ้น โดยรู้ข้อมูลวงในมาก่อนแล้วว่าตลาดหุ้นไม่มีทางปรับตัวลง เพราะเฟดยังไม่คิดที่จะลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล นอกจากประธานเฟดสาขาดัลลัส นายอีริค โรเซนเก้น ประธานเฟดสาขาดัลลัสก็ประกาศลาออกด้วยสาเหตุคล้ายกัน แต่ตัวเขาเองกล่าวว่าขอลาออกเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ
ไม่ว่าทั้งสองคนจะลาออกด้วยสาเหตุอะไร ในสายตาของนักลงทุนนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ยาก คงไม่มีใครคิดจะลาออกจากงานทั้งๆ ที่ใกล้จะครบวาระเกษียณอยู่แล้วจริงไหม? ข่าวอื้อฉาวนี้นอกจากจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับอดีตประธานเฟดทั้งสอง แต่ยังเหมือนกับการทิ้งระเบิดลูกใหญ่ไว้ให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่ตอนนี้กำลังรักษาฟอร์มอย่างสุดกำลัง เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานเฟดต่อในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
ข่าวเสียๆ หายๆ ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อ
ดราม่าครั้งนี้ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีข่าวออกมาอีกว่านายริชาร์ด คาร์ริด้า รองประธานเฟดได้เงิน $1 ล้านเหรียญจากแหล่งเงินทุนไม่ระบุที่มา นำไปลงทุนกับตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 จนได้กำไรมาเป็น $5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ จะอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่โควิด-19 จะเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา ช่างเป็นความบังเอิญในช่วงเวลาที่บังเอิญจริงๆ
ยิ่งไปกว่านั้นบรรณาธิการของนิตยสาร Wall Street Journal ยังได้ส่งข้อเสนอไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่าควรเลือกคนใหม่เข้ามาแทนที่ประธานเฟดคนปัจจุบัน คนที่บรรณาธิการยื่นชื่อเสนอให้กับโจ ไบเดนคือนาง Saule Omarova แห่งสำนักงานควบคุมเงินตราแห่งอเมริกา อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าการเสนอชื่อของเธอขึ้นมาเป็นประธานเฟดคนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอจะต้องผ่านมติการโหวตจากสภาคองเกรส ที่อาจจะจบลงที่การได้เป็นประธานเฟดสมัยที่สองของพาวเวลล์
ในแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ก่อน นางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกคนดังกล่าวโจมตีเจอโรม พาวเวลล์ว่าการคุมบังเหียนผู้นำธนาคารกลางของเขาถือเป็นภัยอย่างยิ่ง พร้อมทั้งลงคะแนนโหวตไม่รับรองการเสนอชื่อเจอโรม พาวเวลล์ให้เป็นประธานเฟดอีกหนึ่งสมัย เธอให้เหตุผลว่าการกระทำของเจอโรม พาวเวลล์ถือเป็นการเผิกเฉยต่อภาวะเงินเฟ้อมากเกินไปและกำลังจะทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเดินหน้าเข้าสู่หน้าผาอีกครั้ง
สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะหายไปในการถกเถียงเรื่องนโยบายการคลังตอนนี้คือคำถามที่ว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวหรือไม่ เพราะในถ้อยแถลงต่อคองเกรสเหมือนสัปดาห์ก่อน เจอโรม พาวเวลล์ก็เหมือนจะยอมรับกลายๆ ว่าภาวะเงินเฟ้ออาจอยู่นานกว่าที่เขาคิด และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
ลาร์ลี่ ซัมเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดได้กล่าวเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจอเมริกาในตอนนี้ว่าสหรัฐฯ และทั่วโลกกำลังประเมินความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อต่ำเกินไป เขาเปรียบเทียบสถานการณ์ในตอนนี้ว่าเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสิ้นปี 1960 ที่สุดท้ายแล้วนำไปสู่สภาวะ stagflation ในปี 1970
ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังทำหน้าที่อย่างซื่อตรงต่อไปเรื่อยๆ ดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคลในเดือนสิงหาคมที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเติบโตขึ้น 0.4% และแบบปีต่อปีก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.3% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 ในขณะเดียวกัน ดัชนีตัวเดียวกันแต่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานก็ได้ปรับตัวขึ้น 0.3% MoM และ 3.6% YoY
ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้ก็คือระบบการบริหารของสหรัฐฯ และการเงินเหมือนจะกำลังกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งเรื่องของการขยายเพดานหนี้ และการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของพาวเวลล์ การอธิบายเป็นฉากๆ ของอลิซาเบธ วอร์เรน ในวันนั้นก็ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ของเดโมแครตบางคนเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย
เอ็ดด์ ยาร์ดินี่ นักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวประโยคที่น่าคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “สิ่งที่ทำให้เงินเฟ้อกลายเป็นเรื่องชั่วคราวที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อตามธรรมชาติ แต่เป็นความหัวรั้นของเจอโรม พาวเวลล์ที่ไม่ยอมมองประเมินสถานการณ์ตามความเป็น หรือทั้งรู้อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะตั้งใจเลือกที่จะมองข้าม ให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งในสมัยที่สอง”