ดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500 แนสแด็กและรัสเซล 2000 ต่างต้องเผชิญแรงกดดันตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดตลาดลงทุนเมื่อวานนี้ เพราะนักลงทุนไม่สนใจประเด็นใดเลยนอกจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ
หากพิจารณาเปรียบดัชนีทั้งสี่ ดูเหมือนว่าดัชนีดาวโจนส์จะได้รับแรงกดดันมากที่สุด นักลงทุนเริ่มถอดใจกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ V-shape แล้ว นักวิเคราะห์ประเมินว่าวิธีเดียวที่จะได้่เห็นการฟื้นตัวรูปตัว V คือเศรษฐกิจต้องกลับมาเปิดแบบ 100% โดยที่มาตรการคุมเข้มโควิดทุกอย่างต้องถูกยกออก
ถ้อยคำของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนรายงานผลการประชุม FOMC ก็ค่อนข้างทำให้นักลงทุนรู้สึกถอดใจพอสมควร เขาพูดว่า “เราไม่มีทางกลับไปมีรูปแบบเศรษฐกิจอย่างเช่นในช่วงก่อนโควิดได้อีกแล้ว ไวรัสโคโรนาคงจะต้องอยู่กับมนุษยชาติไปอีกสักพัก” หลังจากที่ถ้อยแถลงนี้จบลง มีเพียงหุ้นในกลุ่มสายป้องกันอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นที่สามารถปิดบวกได้ นอกเหนือจากกลุ่มนี้ ปิดติดลบหมด
ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญกับความผันผวนไม่แพ้กัน ดัชนี STOXX 600 เปิดตลาดด้วยการปรับตัวขึ้น 0.05% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังพอมีกับการท่องเที่ยวและการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรแบบปีต่อปีที่ปรับตัวขึ้น 2% ส่วนตลาดหุ้น FTSE 100 ปรับตัวลดลง 2% จากสกุลเงินปอนด์ที่แข็งค่า
แม้ว่าสกุลเงินปอนด์จะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ แต่กราฟ GBPUSD ยังคงต้องทดสอบกับแนวต้านที่เกิดจากเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน อันที่จริงกราฟยังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันขึ้นมาได้ด้วยซ้ำ หากไม่มีรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้น กราฟ GBPUSD อาจจะปรับตัวลงต่ำไปมากกว่านี้ตั้งนานแล้ว
การหดตัวของรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินกลับไปลงทุนในตลาดฝั่งเอเชียอีกครั้ง ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% แม้ว่าจะยังต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจากข่าวรัฐบาลจีนที่พยายามจัดระเบียบสังคม กดดันคนรวยให้แบ่งปันความมั่งคั่งไปสู่คนที่มีรายได้ต่ำ
สถานการณ์ของตลาดลงทุนในตอนนี้ถือว่าตัดสินใจลำบากพอสมควรสำหรับนักลงทุน จะลงทุนที่สหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งถ้ายังไม่ถึงการประชุมใหญ่ที่แจ็คสัน โฮล ในสัปดาห์หน้า ก็ไม่อาจจะตัดสินใจอะไรได้ หากจะโยกเงินไปที่จีน ตลาดหุ้นก็ไม่สามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติเพราะถูกกลไกรัฐบาลควบคุม จะหันมาลงทุนที่ตลาดเกิดใหม่ ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากโควิดเดลตา เพราะประเทศเหล่านี้ยังไม่สามารช่วยเหลือตัวเองได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนไม่มีทางเลือก นอกจากกลับมารอดูรายงานการประชุมของ FOMC เพื่อหาทางออกในระยะสั้นๆ
กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีดูมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิค
จากรูปจะเห็นว่ากราฟอัตราผลตอบแทนฯ ดีดตัวกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นในช่วงวันจันทร์และอังคาร ซึ่งถือเป็นการดีดกลับที่พอดีมาก ทำให้เกิดเป็นไหล่ด้านขวาของรูปแบบหัวไหล่ด้านหงาย (Inverted Head & Shoulder) ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่ากราฟจะสามารถวิ่งขึ้นยืนเหนือเส้น neckline (เส้นสีแดง) ด้านบนได้หรือไม่
เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีรูปแบบการวิ่งที่น่าสนใจกว่า ดอลลาร์สหรัฐจึงทำได้แต่สงบนิ่ง รอดูรายงานการประชุมของ FOMC
สถานการณ์ทางเทคนิคของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐก็มีความดราม่าอยู่ในระดับหนึ่ง กราฟติดอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าจะทำรูปแบบไหนให้สำเร็จระหว่าง double-bottom รูปใหญ่ กับ double-top รูปเล็ก เพราะทั้งสองรูปแบบนี้จะทำให้กราฟวิ่งไปกันคนละทาง และเป็นรูปแบบที่นักลงทุนทั้งสองฝ่ายใช้ตัดสินใจเปิดชักธงรบกับอีกฝ่าย
หากจะเรียกว่าเป็นการจับตาเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน ก็คงจะสามารถใช้คำนี้ได้ เพราะราคาทองตำเองเมื่อเห็นดอลลาร์ยังไม่ขยับ ทองคำแม้จะปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่กล้าขยับมากมายจนเป็นที่สังเกต
การปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยของทองคำต้องเผชิญกับปัญหาอยู่บ้าง เพราะกราฟมีแนวต้านสำคัญรออยู่ที่เส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน
ดูเหมือนว่าขาขึ้นของราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์จะเริ่มแผ่วลงแล้ว เพราะกราฟได้ลงมาทดสอบกรอบขาขึ้นด้านล่างได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มสร้างขาขึ้นระยะสั้นรอบนี้มา
ข่าวร้ายก็คือขาขึ้นรอบนี้กำลังเผชิญกับบททดสอบที่แนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน
น้ำมันดิบได้แรงสู้กลับขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก API ประกาศออกมาว่าปริมาณน้ำมันที่อยู่ในสต๊อกลดลง เป็นความหวังเล็กๆ ว่ายังมีความต้องการใช้พลังงานน้ำมันในช่วงหน้าร้อนอยู่ แต่เราไม่คิดว่าข่าวดีนี้จะต้านทานแรงกดดดันจากโควิดระลอกใหม่ได้
ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจากการฟอร์มตัวของรูปแบบการเคลื่อนไหว จะเห็นว่ากราฟกำลังทำสามเหลี่ยมลู่ลง ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ของขาลงในอนาคต
เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญที่เหลืออยู่ในสัปดาห์นี้
- การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนิเซียในวันพฤหัสบดี
- การประกาศดัชนีภาคการผลิตของธนาคารกลางแห่งฟิลาเดเฟียในวันพฤหัสบดี
- รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของแคนาดาและสหราชอาณาจักรในวันศุกร์
สรุปความเคลื่อนไหวในตลาดต่างๆ
ตลาดหุ้น
ดัชนี STOXX600 มีความเคลื่อนไหวเล็กน้อย
ดัชนี S&P 500 ฟิวเจอร์สมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อย
ดัชนี NASDAQ 100 ฟิวเจอร์สมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อย
ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สปรับตัวลดลง 0.2%
ดัชนี MSCI ของพื้นที่เอเชียแปซิฟิกปรับตัวขึ้น 0.4%
ดัชนีMSCI ของตลาดเกิดใหม่ปรับตัวขึ้น 0.4%
ตลาดสกุลเงิน
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง 0.1%
สกุลเงินยูโรปรับตัวขึ้น 0.2% เป็น 1.1728
สกุลเงินเยนปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือ 110
สกุลเงินหยวนปรับตัวขึ้น 0.1% ไปอยู่ที่ 6.4820
สกุลเงินปอนด์ปรับตัวลดลงไปยัง 1.3749
ตลาดพันธบัตร
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อยอยู่ที่ 1.26%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงหนึ่งจุดเบสิส -0.48%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักรอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงสองจุดเบสิส 0.54%
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 0.8% มีระดับราคาอยู่ที่ $69.56 ต่อบาร์เรล
ราคาทองคำสปอตปรับตัวขึ้น 0.4% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,793.44 ต่อออนซ์