การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การใช้ชีวิตของพวกเราต้องพึ่งพาอยู่กับสื่อออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันออนไลน์จากประเทศใดก็ตาม หากใช้งานได้ดี ก็จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้ใช้งานและกินส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้บริโภคในประเทศนั้นได้ไม่ยากเย็นนัก สำหรับประเทศจีนเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ การเข้ามาของเทคโนโลยีโลกตะวันตกถือเป็นสิ่งที่จีนกังวลมาก ดังนั้นพวกเขาจึงมีกฎหมายมากมายมาควบคุมผลิตภัณฑ์จากต่างแดน รวมถึงแพลตฟอร์มธุรกิจที่มาจากโลกตะวันตกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ “The People’s Daily” ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าการต่อต้านการผูกขาดการค้าถือเป็นภารกิจหลักของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราได้เห็นการสกัดกั้นการเติบโตของธุรกิจมากมาย ไม่เฉพาะต่างประเทศ แต่รวมถึงธูรกิจของคนในชนชาติจีนเองเช่นการทำ IPO ของแอนท์กรุ๊ปโดยอาลีบาบา (NYSE:BABA) จนกระทั่ง IPO ที่เคยเป็นว่าที่เบอร์หนึ่งของโลกในแง่ของมูลค่าต้องหยุดโปรเจ็กต์ลงเพราะไม่อาจต้านทางรัฐบาลจีนได้
หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น นักลงทุนต่างชาติก็พากันเทขายหุ้นรายใหญ่ของจีน เคธี่ วู๊ด เจ้าของกองทุนเทคฯ ชื่อดัง “ARK Invest” ก็ได้ตัดสินใจปรับพอร์ตหนีความเสี่ยงเป็นที่เรียบร้อย ผลกระทบดังกล่าวยังทำให้หุ้นชื่อดังของจีนปรับตัวลดลงด้วยไม่ว่าจะเป็น
- Alibaba ปรับตัวลดลง 14.2% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD)
- Baidu (NASDAQ:BIDU ปรับตัวลดลง 22.9% YTD
- Didi Global (NYSE:DIDI) ปรับตัวลดลง 27.6% ตั้งแต่เปิดพับบลิคในเดือนมิถุนายน
- New Oriental Education & Technology (NYSE:EDU): ปรับตัวลดลง 88.3% YTD
- Tencent (OTC:TCEHY) ปรับตัวลดลง 14.7% YTD
จากการเทขายหุ้นจีนในครั้งนี้ทำให้ดัชนีหลักของจีนอย่างเซิ่นเจิ้นคอมโพสิตและเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปรับตัวลดลงประมาณ 5% YTD หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็คือตอนนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทจะทะเบียนในสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีกว่าของตลาดจีนแล้ว
ท่ามกลางกระแสเทขายหุ้นจีน ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่เชื่อว่าจีนยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพเติบโตต่อในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อหวังว่าในหวังที่กฎหมายของจีนเอื้อต่อการทำธุรกิจมากกว่านี้ บริษัทที่เคยมีมูลค่าลดลงจะกลับขึ้นมาเป็นเพชรเม็ดงามได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดีนักลงทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้อยากนำเงินลงทุนของตัวเองไปเสี่ยงกับกฎหมายของจีนด้วยตัวเอง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะมาแนะนำกองทุน ETF ที่เน้นถือครองหุ้นจีนเป็นหลัก และสมควรพิจารณาหากต้องการลงทุนในตลาดหุ้นจีน
1. Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF
ระดับราคาปัจจุบัน: $30.15
กรอบการวิ่งของราคาในรอบ 52 สัปดาห์: $24.34 - $43.90
เปอร์เซ็นต์การปันผล: 0.07%
อัตราค่าใช้จ่ายต่อการดำเนินงาน: 0.65% ต่อปี
กองทุนแรกที่เราอยากจะแนะนำคือ Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF (NYSE:CHIQ) เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (market cap) อยู่ในระดับกลางไปถึงสูง บริษัทที่ CHIQ เน้นลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีผลิตภัณฑ์อยู่ในประเภทที่ “มีก็ได้ แต่ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น” ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มนี้กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประชาชนที่อยู่ในชนชั้นกลางมีโอกาสเปลี่ยนสถานะตัวเองได้ง่ายขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี
ปัจจุบัน CHIQ ถือครองหุ้นรวมแล้วทั้งสิ้น 83 ตัว อ้างอิงราคามาจากดัชนี MSCI China Consumer Discretionary 10/50 Index กองทุนนี้เริ่มต้นเปิดให้ลงทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2009 แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นออกเป็นสามกลุ่มหลักๆ ได้แก่กลุ่มขายสินค้าปลีกให้กับผู้บริโภคโคยตรงผ่านอินเตอร์เน็ต (32%) กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ (22%) ผู้ให้บริการด้านการศึกษา (12%)
หุ้นสิบอันดับแรกที่กองทุนถือครองคิดเป็นสัดส่วน 54% ของสินทรัพย์ทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ $758 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทชื่อดังที่ CHIQ ถือครองได้แก่ JD.com (NASDAQ:JD) Pinduoduo (NASDAQ:PDD) Meituan (OTC:MPNGY) Nio (NYSE:NIO) และ Byd (OTC:BYDDY)
แม้ว่าผลงานในรอบ 52 สัปดาห์ล่าสุด CHIQ จะสามารถทำกำไรได้ 27% แต่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน CHIQ กลับปรับตัวลดลง 15% สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่เชื่อว่าจีนยังมีโอกาสเติบโต คุณสามารถลงทุนในกองทุนนี้ได้ เพียงแต่ต้องระวังความเสี่ยงจากกฎหมายควบคุมตลาดทุนของจีนเท่านั้น
2. KraneShares MSCI All China Health Care Index ETF
ระดับราคาปัจจุบัน: $41.17
กรอบการวิ่งของราคาในรอบ 52 สัปดาห์: $32.40 - $47.69
อัตราค่าใช้จ่ายต่อการดำเนินงาน: 0.65% ต่อปี
รายงานจากแมคเค็นซี่เมื่อไม่นานมานี้ตั้งฉายาให้กับประเทศจีนว่า “เป็นประเทศที่มีการลงทุนกับเฮลท์แคร์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” จีนลงทุนไปกับเฮลท์แคร์ของประเทศคิดเป็น 5.35% ของตัวเลข GDP เทียบกับประเทศอื่นๆ ของโลกจะเห็นว่าสหรัฐฯ ลงทุนไป 16.89% เยอรมัน 11.43% ญี่ปุ่น 10.95% สหราชอาณาจักร 10.00% โรมาเนีย 5.56% และรัสเซีย 5.32%
ข้อมูลที่กล่าวมานี้คือเหตุผลที่เราเลือกกองทุนที่ 2 ที่มีชื่อว่า KraneShares MSCI All China Health Care Index ETF (NYSE:KURE) เป็นกองทุนที่ลงทุนกับเฮลท์แคร์ของประเทศจีน กองทุนนี้เน้นบริษัทจีนที่ทำเกี่ยวกับเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วิจัยเกี่ยวกับยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ
ปัจจุบัน KURE ถือครองหุ้นรวมแล้วทั้งสิ้น 116 ตัว อ้างอิงราคามาจากดัชนี MSCI China All Shares Health Care 10/40 Index กองทุนนี้เริ่มต้นเปิดให้ลงทุนตั้งแต่มกราคม 2018 หุ้นสิบอันดับที่มีมูลค่าสูงสุดในกองทุนคิดเป็น 42% ของสินทรัพย์ทั้งหมดซึ่งมีอยู่เกือบ $239 ล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัทชื่อดังที่ KURE ถือครองได้แก่ WuXi Biologics (HK:2269), Shenzhen Mindray Bio-Medical Electronics (SZ:300760) WuXi AppTec (SS:603259) และ Aier Eye Hospital Group (SZ:300015)
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของกองทุน KURE ปรับตัวขึ้นมาแล้วมากกว่า 2% เทียบกับปีที่แล้วที่ปรับตัวขึ้นมา 11% หากคุณเป็นคนที่เชื่อว่าประชากรจีนกำลังเติบโตขึ้น และมีความใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น นี่คือกองทุนที่จะตอบโจทย์ในยุคที่ใครๆ ก็หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพแน่นอน