สำหรับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในสัปดาห์นี้ ไม่มีเรื่องไหนที่นักลงทุนสนใจไปมากกว่าการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) และถ้อยแถลงของเหล่าบรรดาผู้วางนโยบายการเงินในธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คนอื่นๆ เช่นจอห์น วิลเลียมแห่งนิวยอร์ก แพททริก ฮาร์กเกอร์แห่งแอตแลนต้า ราฟาเอล บอสติคจากริชมอนต์ เป็นต้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับราคาทองคำโดยตรง
ส่วนนักลงทุนในตลาดน้ำมันจะให้ความสำคัญกับผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไรกับการปรับปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนถัดไป การแถลงของบรรดาเฟดแต่ละคนนั้นค่อนข้างเป็นที่จับตามองเพราะนี่จะเป็นแถลงการณ์หลังจากผลการประชุมที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นเป็นปี 2023 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าแนวทางการพูดของเฟดแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าบนตลาด NYMEX ปิดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการเป็นขาขึ้นได้สัปดาห์แรกนับตั้งแต่ร่วงลงมาจาก $1,900
ในช่วงเช้าของตลาดซื้อขายฝั่งเอเชียวันนี้ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้โดยไปสร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $1,783.45 เจฟฟี่ ฮาลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA ให้ความเห็นต่อราคาทองคำในช่วงนี้ว่า
“ราคาทองคำยังคงติดอยู่ในกรอบไซด์เวย์ระหว่าง $1,760 - $1,800 โดยมีแนวต้านจากเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันอยู่ที่ $1,793.50 หากสัปดาห์นี้ทองคำไม่สามารถขึ้นมายืนเหนือระดับราคานี้ได้ มีโอกาสสูงมากที่ราคาจะกลับเข้าสู่ขาลงจริงๆ ถ้าจะให้ดี ราคาทองคำต้องสามารถขึ้นมายืนเหนือ $1,800 ให้ได้ หรือไม่งั้นก็ต้องลงไปต่ำกว่า $1,760 จึงจะพอสามารถบอกทิศทางต่อไปได้”
เจฟฟี่ปิดท้ายด้วยว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาทองคำมากที่สุดในสัปดาห์นี้คือพฤติกรรมของดอลลาร์สหรัฐที่จะมีข่าวมากมายมาขับเคลื่อน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนมิถุนายน การรายงานตัวเลข NFP ของเดือนพฤษภาคมมีตัวเลขการจ้างงานอยู่ที่ 675,000 ตำแหน่งและอัตราการว่างงานลดลงจาก 5.8% เป็น 5.7%
ตลาดลงทุนคาดว่าให้การรายงานตัวเลข NFP ครั้งนี้มีการปรับตัวขึ้นหลังจากที่สองครั้งล่าสุดมีอาการชะลอตัวปรากฏออกมาให้เห็นผ่านตัวเลข ที่สำคัญการรายงานตัวเลขในวันศุกร์จะเป็นตัวปิดไตรมาสที่สองด้วย ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกความเป็นไปได้ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้านับจากนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังมั่นใจว่ามาตรการที่ประกาศออกไปจะสามารถช่วยให้ชาวอเมริกันกลับไปทำงานเดิมของตนเองได้
นอกจากการรายงานตัวเลข NFP สหรัฐอเมริกาจะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นดัชนี PMI ภาคการผลิต รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานจาก ADP และยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง ข้อมูลตัวเลขในภาคการผลิตจาก ISM จะเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่สามารถบอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปัญหาซัพพลายเชนคอขวด ที่มีส่วนผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็นอย่างมากในตอนนี้
แต่ราคาทองคำอาจได้ปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกอื่นๆ อย่างเช่นหากดีล $1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของโจ ไบเดนผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรส และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เดลตาพลัสที่กำลังระบาดอย่างในในประเทศฝั่งเอเชีย แม้ว่าจีนจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างดี แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาซัพพลายเชนได้
ในช่วงสองปีที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับภัยโรคระบาด ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของนักลงทุนทองคำด้วยเนื่องจากอะไรๆ ก็ไม่เป็นไปตามที่คิดที่หวัง โดยปกติแล้วช่วงเวลาสองปีนี้ราคาทองคำควรจะปรับตัวขึ้นอย่างมหาศาล แต่หลังจากที่ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดเหนือ $2,000 ได้ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทองคำก็ไม่เคยกลับไปที่จุดสูงสุดนั้นได้อีกเลย
แม้กระทั่งในตอนนี้ที่นักลงทุนวอลล์ สตรีทต่างพากันเป็นกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ตัวเลขดัชนี CPI และ PCE ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดการเติบโตของเงินเฟ้อก็สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ปรากฎการณ์นี้ควรจะเป็นแรงสนับสนุนที่พาราคาทองคำปรับตัวขึ้นไป แต่ก็อย่างที่เราเห็น ตอนนี้ทองคำกลับมีโอกาสที่จะกลับลงไปหา $1,674 เลยด้วยซ้ำ
OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นอีก 500,000 bpd หรือไม่
นอกจากการเติบโตของวงการสกุลเงินดิจิทัลแล้ว อีกหนึ่งตลาดที่ถือว่าแย่งนักลงทุนไปจากทองคำคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากน้ำมันดิบ นับตั้งแต่การลงไปสร้างจุดต่ำสุดติดลบในช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบก็ได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดราคาน้ำมันดิบ WTI มีราคาซื้อขายอยู่เหนือ $74 ต่อบาร์เรลแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้จึงกลายเป็นที่จับตามองของนักลงทุน
“พวกเรา (กลุ่ม OPEC) ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีส่วนช่วยควบคุมความเป็นมาเป็นไปของตลาดน้ำมันโลก และรวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ พวกเราทราบดีว่าราคาน้ำมันในตอนนี้ขึ้นมาเร็วและแรงเกินไป”
นี่คือคำพูดของนายอับดุลลาซิส บิล ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะแสดงท่าทีอย่างนั้น แต่นักลงทุนก็ยังไม่วางใจจนกว่าจะได้ทราบผลการประชุมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าหากกลุ่ม OPEC+ ไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเกิน 500,000 bpd ในเดือนสิงหาคม ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งขาขึ้นของตลาดน้ำมันในตอนนี้ได้
อนึ่ง ราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ในช่วงเช้าของตลาดลงทุนฝั่งเอเชียมีราคาซื้อขายอยู่ที่จุดสูงสุด $74.45 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถสร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $75.75 ไม่ห่างจากจุดสูงสุดปี 2018 ที่ $76.20 เท่าไหร่ ตลอดทั้งปี WTI ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 53% ในขณะที่เบรนท์ปรับตัวขึ้นมา 45%
ตั้งแต่นายอับดุลลาซิส บิล ซัลมาน (AbS) เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้เมื่อสองปีก่อน กลุ่มประเทศสมาชิกใน OPEC+ ต่างเรียกร้องให้มีการเพิ่มโควตาการผลิตขึ้น แต่สิ่งที่อับดุลลาซิสให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือการควบคุมราคาน้ำมันมากกว่าส่วนแบ่งที่แต่ละประเทศควรจะได้รับ จึงเป็นสาเหตุที่เรามักจะเห็นข้อเสมอของประเทศสมาชิกถูกตีตกจาก AbS คนนี้อยู่บ่อยๆ
แม้ว่าตอนนี้โลกของเราจะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดมาได้พอสมควรแล้ว แม้จะมีปริมาณการใช้น้ำมันกลับมาแล้ว แม้สหรัฐฯ จะมีราคาน้ำมันที่สามารถยืนเหนือ $74 ต่อบาร์เรลได้ แต่รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคนนี้ก็ยังมองว่าความต้องการน้ำมันยังกลับมาไม่มากพออย่างที่ควรจะเป็น
นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการฝากความหวังของตลาดน้ำมันดิบเอาไว้กับกลุ่มผู้ผลิตใดเพียงกลุ่มเดียวถือเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝากเอาไว้กับซาอุดิอาระเบียที่น้อยครั้งมากจะแสดงศักยภาพการผลิตน้ำมันที่แท้จริงของตัวเองออกมาให้โลกเห็น พวกเขาเปรียบเทียบว่าการฝากความหวังเอาไว้กับซาอุดิฯ เหมือนการฝากปลาย่างไว้กับแมว แต่ถ้าให้เลือกระหว่างแมวที่ชื่อซาอุดิอาระเบีย กับสิ่งที่เหล่านักลงทุนเก็งกำไรทั่วโลจะทำกับราคาน้ำมัน เราคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการต้องเชื่อใจแมวตัวนี้