ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วสร้างความผันผวนให้กับตลาดลงทุนเป็นอย่างมาก ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมากกว่า 553 จุด สร้างสถิติสัปดาห์ที่แล้วร้ายที่สุดของดัชนีนับตั้งแต่เดือนตุลาคม นักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มวัฐจักรเนื่องจากการส่งสัญญาณว่าจะร่นระยะเวลาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเร็วขึ้นของเฟดทำให้ตลาดลงทุนกลัวว่าจะได้กำไรลดลง
นอกจากการเลื่อนเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ขึ้นมาเป็นปี 2023 แล้ว ผู้วางนโยบายของเฟดหลายคนมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งภายในปี 2023 นอกจากนี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้กล่าวด้วยว่าได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการลดวงเงิน QE กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่าการดึงสภาพคล่องออกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เราเชื่อว่าการลงทุนในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะยังพูดถึงผลกระทบจากการวางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่จะไม่ใช่ในรูปแบบตื่นตระหนกเหมือนสัปดาห์ก่อน แต่จะเป็นการทำอย่างไรเพื่อรักษาความมั่งคั่งภายใต้ความเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และเช่นเคยบทความนี้ได้คัดหุ้นที่น่าสนใจที่สุดสามตัวประจำสัปดาห์นี้มาให้คุณผู้อ่านได้พิจารณากัน
1. Nike
บริษัทผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับกีฬาชื่อดังของโลก ‘ไนกี้’ (NYSE:NKE) จะรายงานผลประกอบการแบบปีบัญชีของไตรมาสที่สี่ปี 2021 ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน หลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด นักวิเคราะห์ประเมินว่าไตรมาสนี้ไนกี้จะสามารถทำกำไรได้ $11,090 ล้านเหรียญสหรัฐและมีตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ $0.51
หุ้นไนกี้ถือว่าสามารถฟื้นตัวได้ดีจากวิกฤตโควิดในปีที่แล้ว แต่พอขึ้นปี 2021 มาความร้อนแรงของหุ้นไนกี้ก็ลดลง นักลงทุนจึงกำลังรอดูว่ากำไรในประเทศที่มีกำลังซื้อมากที่สุดอย่างสหรัฐฯ และจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน หากตัวเลขที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าไนกี้ยังมีกำไรที่ดีจากทั้งสองประเทศ ราคาหุ้นของไนกี้อาจหลุดกรอบไซด์เวย์ขาลง กลายเป็นขาขึ้นต่อก็เป็นได้
แบรนด์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ประกอบกับการเปลี่ยนรูปแบบการขายมาสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ไนกี้สามารถเอาตัวรอดมาจากวิกฤตโควิด แต่ถึงกระนั้นไนกี้ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากซัพพลายเชนขาดแคลนที่ประสบเหมือนกันทั่วโลกได้ เมื่อของที่มีในสต๊อกเริ่มลดลง ไนกี้จึงเริ่มประสบปัญหาสินค้าขาดแคลนที่จะส่งไปขายยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ
ล่าสุดหุ้นไนกี้มีราคาปิดอยู่ที่ $128.41 ปรับตัวลดลง 9% ตลอดทั้งปี 2021 ในการประกาศตัวเลขผลกำไรในไตรมาสเดือนมีนาคมปรากฎว่ากำไรในพื้นที่ยุโรปยังไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก เนื่องจากในช่วงนั้นยุโรปยังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดอยู่ แต่ในไตรมาสนี้ยุโรปสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้พอสมควรแล้ว นักลงทุนจึงต้องการทราบว่ากำไรในพื้นที่ยุโรปจะดีขึ้นตามไปด้วยหรือไม่
2. FedEx
บริษัทที่ให้บริการขนส่ง การค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และบริการด้านธุรกิจแก่ลูกค้าและธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ‘เฟ็ดเอ็กซ์’ (NYSE:FDX) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จะรายงานผลประกอบการแบบปีบัญชีของไตรมาสที่สี่ปี 2021 ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน หลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด นักวิเคราะห์ประเมินว่าไตรมาสนี้เฟ็ดเอ็กซ์จะสามารถทำกำไรได้ $21,470 ล้านเหรียญสหรัฐและมีตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ $4.98
การรายงานผลประกอบการของบริษัทเฟ็ดเอ็กซ์ควรค่าแก่การจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะบริษัทเฟ็ดเอ็กซ์คือบริษัทขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ดังนั้นผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงสภาพวงการขนส่งของโลกในปัจจุบัน รายงานผลประกอบการครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคมปรากฎว่ายอดผู้ใช้บริการขนส่งของเฟ็ดเอ็กซ์มีเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลกระทบมาจากโควิดที่แยกผู้คนออกจากกัน
ในรายงานผลประกอบการครั้งนั้น เฟ็ดเอ็กซ์เปิดเผยว่ากำไรที่ได้จากการใช้บริการมากขึ้นช่วยชดเชยการขาดทุนที่เป็นผลกระทบมาจากการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เฟ็ดเอ็กซ์ยังคาดการณ์ด้วยว่ากำไรปี 2021 จะเติบโตขึ้น ล่าสุดหุ้นเฟ็ดเอ็กซ์มีราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ $285.32 ปรับตัวขึ้น 10% ตลอดทั้งปี 2021
3. Paychex
บริษัทผู้ให้ข้อมูลทางสถิติเชิงลึกถึงสถานภาพของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยตัวเลขการจ้างงาน ‘เพย์เช็กซ์’ (NASDAQ:PAYX) จะรายงานผลประกอบการในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน ก่อนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิด นักวิเคราะห์ประเมินว่าไตรมาสนี้เพย์เช็กซ์จะสามารถทำกำไรได้ $980 ล้านเหรียญสหรัฐและมีตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ $0.67
ล่าสุดราคาหุ้นของเพย์เช็กซ์มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $102.02 ปรับตัวขึ้นมา 9% ตลอดทั้งปี 2021 นายมาร์ติน มันชี่ CEO ของเพย์เช็กซ์กล่าวในรายงานผลประกอบการเมื่อเดือนเมษายนว่า
“ผลการเก็บข้อมูลเชิงสถิติของบริษัทได้บอกกับเราว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือการกลับมาใช้สินค้าอุปโภคบริโภคเดิมที่ไว้ใจแบบซ้ำๆ ดังนั้นแบรนด์ที่ได้ความไว้ใจของผู้บริโภคมากที่สุดจึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จภายในช่วงเศรษฐกิจผันผวนที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน”