ภาพรวมของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ประจำสัปดาห์นี้สามารถสรุปได้สั้นๆ ว่า ความต้องการน้ำมันและผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ จะช่วยตรึงราคาน้ำมันให้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไปได้ ส่วนราคาทองคำตลอดทั้งสัปดาห์นี้จะต้องรบกับนักลงทุนที่บริเวณแนวต้าน $1,900 ซึ่งมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรออยู่
ข้อมูลจาก GasBuddy ระบุว่าความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 9.6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของความต้องการน้ำมันเฉพาะวันอาทิตย์ในสี่สัปดาห์ล่าสุดรวมกัน นี่คือความต้องการน้ำมันในช่วงสุดสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนปี 2019 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนวันทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำหรับการเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการ
ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วดูฟื้นตัวได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก การกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของโลกจะสามารถเติบโตได้ 5.8% และในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตขึ้น 4.4% นี่คือตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 5.6% และ 4.0% ซึ่งเคยประเมินเอาไว้ในเดือนมีนาคม
เหตุการณ์สำคัญสำหรับวงการน้ำมันในสัปดาห์นี้คงไม่มีเรื่องไหนสำคัญไปกว่าผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่เกิดขึ้นไปเมื่อคืนก่อน ในการประชุมครั้งนี้พวกเขาได้พูดถึงแนวทางการผลิตน้ำมันในเดือนหน้าซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่ม OPEC+ จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันและระดับความต้องการน้ำมันเอาไว้ เพื่อให้องค์กรยังมีประโยชน์ต่อวงการน้ำมันของโลกต่อไป ในเดือนเมษายน กลุ่ม OPEC+ ได้มีมติเพิ่มการผลิตน้ำมันขึ้นเป็น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคม
นักวิเคราะห์จาก ING เชื่อว่ากลุ่ม OPEC+ จะยังคงนโยบายการผลิตน้ำมันต่อไปอีกอย่างน้่อยอีกสองเดือนข้างหน้า ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปรับตัวขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดในรอบสิบสองสัปดาห์ที่ $67.70 ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถขึ้นไปแตะ $70.28 ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบสิบสองสัปดาห์เช่นเดียวกัน
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม อันที่จริงราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว น้ำมันหนึ่งแกลลอนในตอนนี้มีมูลค่า $3 เพิ่มขึ้น 60% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าราคาน้ำมันในตอนนี้อยู่สูงกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ แม้จะเชื่ออยู่แล้วว่าราคาน้ำมันต้องปรับตัวขึ้นก่อนวันทหารผ่านศึกซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของฤดูร้อน
สมาคมผู้ขับขี่รถยนต์อเมริกันคาดการณ์ว่าในปีนี้ชาวอเมริกันจะเดินทางด้วยรถยนต์มากถึง 37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23 ล้านคนคิดเป็น 60% พวกเขาให้เหตุผลว่านี่คือความต้องการท่องเที่ยวที่ถูกอัดอั้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วจากวิกฤตโรคระบาด และที่สำคัญ ในการเดินทางในแต่ละครั้งผู้คนจำเป็นต้องเติมน้ำมันมากกว่าหนึ่งครั้งเป็นเรื่องปกติ เหตุผลนี้ก็จะยิ่งหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ขาขึ้นของน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ยังได้รับแรงสนับสนุนมาจากข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการสต๊อกน้ำมันของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของปริมาณน้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือน้ำมันที่ถูกกลั่นแล้ว ข้อมูลจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) รายงานเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่าจำนวนการเปิดใช้งานแท่นขุดเจาะน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นจากตัวเลขต่ำสุดในรอบสิบเดือนอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้การส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 14.3%
สถานการณ์ของตลาดทองคำในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะลดความร้อนแรงลงมาบ้าง หลังจากที่ราคาทองคำขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ $1,916 ได้ ทองคำก็ปรับตัวลดลงมาวิ่งอยู่ต่ำกว่า $1,900 ราคาทองคำมีการเปลี่ยนทิศทางหลังจากเริ่มต้นเข้าสู่เดือนมิถุนายนทันทีหลังจากที่เดือนพฤษภาคมเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาขาขึ้นที่สวยงามที่สุดในปี 2021 ขาขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 8.0% สูงที่สุดนับตั้งแต่ขาขึ้น 10% ในเดือนกรกฎาคมปี 2020
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสาเหตุหลักที่ดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนที่แล้วเกิดขึ้นมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเงินเฟ้อถือเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่ช่วยเหลือเกื้อกูลราคาทองคำมาโดยตลอด ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะเงินเฟ้ออย่างเช่นดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือดัชนีการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ล้วนแล้วแต่ปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญราคาสินค้าอย่างเช่นไม้แปรรูปก็ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายปี ยิ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นกังวลว่าปี 2021 จะกลายเป็นปีที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 35 ปี
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ถือเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น และสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเพราะปัญหาการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผู้คนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เธอยังบอกอีกด้วยว่าสถานการณ์อาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2021
ที่น่าสนใจก็คือคู่ปรับคนสำคัญของทองคำอย่างดอลลาร์สหรัฐและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับปรับตัวสูงขึ้นแทนที่จะอ่อนค่าลง นักวิเคราะห์คาดว่าสาเหตุนั้นเกิดจากการที่ตลาดลงทุนเก็งกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดการณ์เดิม ปรากฎการณ์เช่นนี้เคยทำให้ราคาทองคำร่วงลงไปวิ่งอยู่ที่ $1,974 ก่อนที่จะเร่งตัวกลับขึ้นมาวิ่งอยู่ในระดับราคาปัจจุบันเพราะความกังวลเงินเฟ้อ
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปล่อยให้สภาพคล่องยังล้นตลาดอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ดัชนีหลายตัวซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยายตัวมากที่สุดในรอบหลายปี เฉพาะในเดือนเมษายนสามารถปรับขึ้นได้ 4.2% มากที่สุดในรอบเกือบ 13 ปี และล่าสุดดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานก็สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.7%
อีกหนึ่งสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเป็นตัวรั้งทองคำเอาไว้ที่ $1,900 คือการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองวันข้างหน้า พวกเขาคาดว่าตัวเลขการจ้างงานในเดือนที่แล้วจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 650,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 266,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน
เป็นธรรมดาที่นักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ว่าตัวเลขการจ้างงานจะต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ ย่อมหมายความว่าการจ้างงานย่อมต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากการรายงานตัวเลข NFP ที่ทุกฝ่ายตั้งตารอกันในวันศุกร์ ก่อนที่จะถึงนั้นก็ได้มีการรายงานตัวเลขที่สำคัญมากมายอย่างเช่นดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 61.2 จุด สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ ในวันพรุ่งนี้ก็จะมีรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการจาก ISM การรายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP และการรายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกซึ่งจะทำให้ราคาทองคำสามารถผันผวนได้ตลอดทั้งสัปดาห์
ทางฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นจะมีการแถลงของผู้มีส่วนในการวางนโยบายทางการเงินหลายคนไปตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งรวมถึงการแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบันร่วมกันนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF คนปัจจุบันและนางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB)