ในช่วงต้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบทั้งเบรนท์และ WTI ต่างก็ปรับตัวลดลงแต่ราคาน้ำมันดิบทั้งสองก็สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ในช่วงปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบได้วิ่งอยู่ในกรอบแคบๆ ที่ราคาประมาณ $40 โดยเฉลี่ยมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน มีปรับขึ้นและลงบ้างไม่เกิน 5% เป็นครั้งคราวจนดูเหมือนว่าปีนี้ทั้งเบรนท์และ WTI จะยอมรับตัวเลข $40 เป็นค่ากลางได้
แล้วมีปัจจัยอื่นที่สามารถบอกใบ้ได้ไหมว่าราคาน้ำมันจะวิ่งต่างจากช่วงสี่เดือนก่อน? ในบทความนี้เรามีข้อมูลที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาราคาน้ำมันดิบในอนาคตไม่ว่าจะในสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าหรือในตลอดทั้งช่วงไตรมาสที่สี่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองของสหรัฐอเมริกา
ข่าวเกี่ยวกับเงินเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนมากที่สุดในสัปดาห์นี้ยิ่งกว่าการดีเบตของรองประธานาธิบดีเสียอีก ที่เป็นไฮไลท์ประจำสัปดาห์นี้ที่สุดคือการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งห้ามทีมงานของตนให้เจรจากับฝั่งเดโมแครตในสภาเมื่อวันอังคารจนกว่าจะพ้นการเลือกตั้ง
ภาพของเงินเยียวยาที่จะลงมาช่วยเหลือเศรษฐกิจนั้นดูยิ่งใหญ่ก็จริงแต่หากถามว่าเงินเยียวยานั้นจะลงมาถึงวงการน้ำมันหรือไม่? คงตอบได้ว่าน้อยมากเพราะต่อให้เงินเยียวยาดังกล่าวสามารถมาอุ้มธุรกิจสายการบินที่เรียกว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงของวงการน้ำมัน แต่ตราบใดที่ผู้คนยังกลัวที่จะเดินทางด้วยเครื่องบิน โอกาสที่ความต้องการน้ำมันดิบจะเติบโตไปได้ไกลมากกว่านี้ก็ยังมีน้อย
หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาพูดออกไปเมื่อวันอังคารนั้นเลวร้ายและส่งผลต่อตลาดหุ้นแค่ไหน วันต่อมาเขาจึงออกมาแก้ข่าวโดยหันมาเป็นฝ่ายเร่งสภาให้รีบอนุมัติการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองโดยเร็ว ข่าวดีดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯฟื้นตัวทันทีในวันพุธ
ถึงจะเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นมากแค่ไหนแต่สำหรับนักลงทุนในน้ำมันดิบฉัน (ผู้เขียน) ก็ขอเตือนไว้อย่างหนึ่งว่าอย่าคิดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นความต้องการน้ำมันดิบให้กลับขึ้นมาด้วย นักลงทุนไม่ควรมองว่าเงินเยียวยาก้อนนี้ว่าเป็นจุดเข้าที่ดีสำหรับการลงทุนในน้ำมัน
2. พายุเฮอริเคนเดลต้า
แม้ว่านักพยากรณ์อากาศจะรายงานว่าพายุเฮอริเคนเดลต้าจะอ่อนกำลังลงเล็กน้อยเมื่อผ่านคาบสมุทรยูกาตันประเทศเม็กซิโกไปแต่พายุดังกล่าวจะแข็งแกร่งขึ้นอีกเมื่อเข้าใกล้แนวชายฝั่งทะเลของลุยเซียนา จากที่คาดการณ์เป็นไปได้ว่าเฮอริเคนเดลต้าจะขึ้นชายฝั่งในวันนี้ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่โรงกลั่นน้ำมันใหญ่ๆ ของรัฐตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังรวมถึงชายฝั่งระหว่างรัฐเท็กซัสกับลุยเซียนาที่พึ่งโดยพายุเฮอริเคนลอราเล่นงานไปในช่วยปลายเดือนสิงหาคม
บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน Phillips 66 (NYSE:PSX) ได้สั่งเลื่อนแผนการกลับมาผลิตน้ำมันของโรงงานในเมืองเลก ชาร์ล (Lake Chales) และโรงกลั่นน้ำมันในลุยเซีนนาเพราะพายุเฮอริเคนเดลต้า โรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวเคยสามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 260,000 บาร์เรลต่อวันก่อนที่ต้องหยุดดำเนินกิจการเพราะพายุลอราและยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เต็มรูปแบบก็ต้องมาเจอพายุเฮอริเคนเดลต้าอีกรอบ
สัปดาห์นี้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวเริ่มทำการอพยพแท่นขุดเจาะน้ำมันที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ออกไปจากพื้นที่เสี่ยงภัย รายงานจากสำนักงานนิรภัยและการบังคับใช้สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (BSEE) ระบุว่าการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกซึ่งคิดเป็น 80.5% หรือคิดเป็นการผลิตน้ำมันเกือบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดลงในวันพุธที่ผ่านมา ข่าวพายุเฮอริเคนนี้จะส่งผลกระทบต่อรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก EIA ในสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอนแต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเฮอริเคนเดลต้าสร้างความเสียหายเอาไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย
3. การประท้วงของคนงานในบริษัทผลิตน้ำมันของนอร์เวย์
การประท้วงของคนงานเพื่อขอขึ้นค่าแรงในโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในนอร์เวย์ทำให้โรงงานดังกล่าวต้องหยุดกิจการลงชั่วคราว ข่าวนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมัน 8% ของประเทศหรือคิดเป็น 330,000 บาร์เรลต่อวันที่หายไป จากแหล่งข่าวที่ได้รับมาระบุว่าการประท้วงอาจดำเนินยืดเยื้อนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ผู้สื่อข่าวใช้คำว่า “ยังไม่เห็นทางออกใดที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้เลย” กว่าจะให้กำลังการผลิตของนอร์เวย์กลับมาได้ก็คงต้องรอให้การประท้วงนี้จบลงก่อน
4. การผลิตและส่งออกน้ำมันในลิเบียกลับมา
ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังพอจะมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อการผลิตน้ำมันในลิเบียสามารถกลับเข้าที่เข้าทางมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้เราได้รายงานไปว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นจนนำไปสู่การปิดบ่อขุดน้ำมัน ข่าวดีนี้ดีพอที่จะชดเชยเรื่องคนงานในนอร์เวย์ประท้วงไปได้
อย่างไรก็ตามอย่าพึ่งดีใจเกินไปนักเพราะถึงจะกลับมาผลิตน้ำมันได้แล้วแต่ก็จะยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลังทันที บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต่างยืนกรานเหมือนกันว่า “ต้องการ” ให้ฝ่ายกบฎนำกองทัพออกไปจากพื้นที่ก่อนจึงจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ แม้การผลิตจะยังกลับมาไม่ได้เต็ม 100% แต่การส่งออกกลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้ง มีรายงานจากบริษัทน้ำมัน Royal Dutch Shell (NYSE:RDSa) ระบุว่าการขนส่งน้ำมันรอบใหม่จากท่าเรือลิเบียพึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม
การที่ลิเบียมีปัญหาภายในจนกระทบกับการผลิตน้ำมันทำให้กลุ่มโอเปกเป็นฝ่ายได้เปรียบ ดังนั้นตอนนี้ที่ลิเบียกลับมาแล้วเชื่อว่าโอเปกจะต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในการประชุมครั้งถัดไปแน่ ข้อมูลการผลิตน้ำมันในเดือนกันยายนอาจจะยังไม่พูดถึงลิเบียแต่การประชุมในเดือนหน้าที่จะพูดถึงภาพรวมการผลิตน้ำมันในเดือนนี้จะต้องมีข่าวของลิเบียขึ้นไปอยู่บนโต๊ะประชุมของโอเปกอย่างแน่นอน
5. ดราม่าในกลุ่มโอเปก
การประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและโอเปก+ ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนและวันที่ 1 ธันวาคม 2020 นักวิเคราะห์คาดว่าการประชุมครั้งนี้กลุ่มโอเปกจะเจอกับแรงกดดันที่มาจากฝั่งสมาชิกที่ไม่ใช่กลุ่มโอเปก ยกตัวอย่างเช่นประเทศเซาท์ซูดาน (South Sudan) ต้องการเจรจาโควตาการผลิตน้ำมันกับกลุ่มโอเปก+ ใหม่อีกครั้ง
ตอนที่ประเทศทางแอฟริกาตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มโอเปก+ ในปี 2016 ตอนนั้นพวกเขาสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 140,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาเป็น 350,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งประเทศทางแอฟริกาเคยผลิตน้ำมันเกินโควตามาแล้วประมาณ 46,000 บาร์เรลต่อวันภายในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม
ในความเห็นของฉันเชื่อว่าข้อเรียกร้องของเซาท์ซูดานอาจถูกปัดตกจากประเทศร่วมกลุ่มโอเปกอื่นๆ ได้เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเล็กๆ ที่ย่อมเสียเปรียบอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อาจกลายเป็นว่าประเทศทางแอฟริกาอาจถูกกลุ่มโอเปก+ กดดันให้ควบคุมปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาเกินจำนวน 46,000 บาร์เรลต่อวันนี้และอาจจะไม่ยอมให้เซาท์ซูดานได้เพิ่มกำลังการผลิตตามที่หวังเอาไว้ นี่จะเป็นสถานการณ์ที่เซาท์ซูดานจะต้องเลือกว่าจะอยู่กับกลุ่มโอเปกต่อไปหรืออกมาจากกลุ่มเพื่อประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง
แน่นอนว่าเซาท์ซูดานสามารถออกจากกลุ่มโอเปกได้เลย แต่จริงๆแล้วพวกเขาอาจกำลังมองหาสิ่งอื่นนอกเหนือจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่นเซาท์ซูดานอาจขอเงินทุนและหรือความเชี่ยวชาญจากสมาชิกกลุ่มอื่นๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำมันและบรรลุเป้าหมายการผลิตฯ ที่สูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากเป็นเช่นนั้นเซาท์ซูดานอาจต้องการใช้การผลิตที่มากเกินไปจำนวน 46,000 บาร์เรลต่อวันเพื่อต่อรองกับสมาชิก OPEC + ที่สนใจเพียงแต่การปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต
ดังนั้นหากนักลงทุนเห็นข่าวเกี่ยวกับดราม่าในกลุ่มโอเปกก็อย่าพึ่งเปิดออเดอร์เพราะข่าวนี้แต่ควรรอดูสถานการณ์ไปอย่างน้อยอีกสองเดือนก่อน