กลุ่มแบงก์ยังถูกกดดันต่อเนื่อง แต่ถือเป็นช่วงท้ายๆของวิกฤติแล้ว
นอกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งยืดเวลาการผ่อนชำระ พักเงินต้น พักดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดไปจนถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งล้วนทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นทั้งสิ้น
ล่าสุด ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 โดยการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2-4% ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้านไม่มีการลดเพดานดอกเบี้ย แต่เลื่อนชำระค่างวด เลื่อนชำระเงินต้น และลดค่างวดโดยการขยายเวลาชำระหนี้ (ติดตามผลกระทบโดยละเอียดได้จากบทวิเคราะห์กลุ่มสถาบันการเงินวันนี้)
อีกทั้ง ยังขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น โดย ธปท. ให้เหตุผลเพิ่มเติม (1) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต (2) เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเสรษฐกิจหลัง COVID-19 คลายตัวลง (3) เพื่อรอดูการแผนจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ใหม่ หลังได้ประเมินผลกระทบจากการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างชัดเจนแล้ว
แบงก์ส่วนใหญ่จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง ส่วนการห้ามซื้อหุ้นคืนเรามองไม่มีนัยสำคัญ
แบงก์ส่วนใหญ่จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง มีเพียง KTB และ TISCO ที่จ่ายปันผลปีละครั้ง โดยถ้าอิงปันผลงวด 1H62 ของ BAY, BBL, KBANK (BK:KBANK), KKP, SCB, TMB จ่ายรวมกัน 1.7 หมื่นล้านบาทSCB สูงสุด 5.1 พันล้านบาท รองลงมาคือ BBL 3.8 พันล้านบาท ซึ่งปีนี้ที่ไม่ได้มีการจ่ายระหว่างกาล (ถ้าจ่ายก็น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ) จะถูกทบไปจ่ายปันผลเต็มปี (กรณีที่จัดทำแผนบริหารเงินกองทุนใหม่แล้วเสร็จ) สิ่งที่นักลงทุนเสียประโยชน์ไปเป็นเพียง มูลค่าของเงินตามเวลาจากการได้ปันผลระหว่างกาลช้าไป 6 เดือน
ส่วนแบงก์ที่ซื้อหุ้นคืนปีนี้มีเพียง KBANK ซึ่งซื้อจบแล้ว 23.9 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันลบ. ขณะที่ SCB ประกาศซื้อหุ้นคืนเมื่อ 11 มี.ค. แต่ยกเลิกไปเมื่อ 20 เม.ย. ทำให้ยังไม่มีการซื้อหุ้นคืน สถาบันการเงินอื่นที่ซื้อหุ้นคืนปีนี้คือ TCAP (97 ล้านหุ้น, 4.9 พันลบ.)และ LHFG (264 ล้านหุ้น, 335 ล้านบาท) เนื่องจากผลของการซื้อหุ้นคืนไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้น Outperform กลุ่ม อีกทั้ง ราคาหุ้นทั้งตลาดฟื้นจากจุดต่ำสุดอย่างมีนัยสำคัญ แบงก์ใหญ่จึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมหลังจากนี้อยู่แล้ว
ปันผลระหว่างกาลของกลุ่มแบงก์ที่หายไป ทำให้หุ้นปันผลที่แท้จริงโดดเด่นยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า Sentiment เชิงลบของกลุ่มแบงก์ย่อมกระทบ SET INDEX อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตลาด Underweight อยู่แล้ว สังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของ BANK INDEX ที่ -31% YTD แย่กว่า SET INDEX ที่ -13% YTD กว่าเท่าตัว ขณะที่ การประชุม กนง. เพื่อพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายจะมีขึ้น 24 มิ.ย. 63 เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้ถูก ธปท. กดดันให้ปรับลงไปแล้วก่อนหน้า ถ้าลดดอกเบี้ยนโยบาย (เราคาด -0.25% เหลือ 0.25%) จะช่วยลดต้นทุนเงินฝาก ซึ่งเร่งตัวขึ้นมาก 7.8% ในช่วง 4M63เพราะฉะนั้น Downside ของกลุ่มแบงก์ยังค่อนข้างจำกัด และจะยิ่งจำกัดมากขึ้นเมื่อ กนง. ลดดอกเบี้ยส่วน KKP ที่ดูจะถูกกระทบเยอะสุด เพราะให้ผลตอบแทนจากปันผลระหว่างกาลสูงสุดในกลุ่มแต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ใน SET50 แล้วจึงไม่น่ามีแรงขายจากกองทุนทั้งในและนอกประเทศกดดันมากนัก
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยเรายังให้ชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ไปก่อน
บทวิเคราะห์นี้จัดทำขึ้นและเผยแพร่โดยทีมนักวิเคราะห์ของ Yuanta Securities
......
บทความห้ามพลาด
มุมมองจาก Trinity หลัง ธปท. ขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน
เบื้องลึก! ธปท.สั่งงดจ่ายปันผล หุ้น BANK ระส่ำ นักลงทุนจ๊าก!