ก่อนหน้านี้ตอนที่สหรัฐฯ สังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านนักลงทุนน้ำมันต่างคุยกันสนุกสนานว่าจะตั้งเป้าทำกำไรที่จุดสูงสุดของราคาน้ำมันดิบตรงไหนดี แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภายในเดือนเดียวกันนักลงทุนน้ำมันกลับต้องมานั่งเหงื่อตกลุ้นว่าราคาน้ำมันดิบจะลงไปได้อีกมากแค่ไหนเพราะจนถึงตอนนี้สถานการณ์ไวรัสโคโรนายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
แม้กระทั่งเมื่อวานที่มีข่าวว่าโอเปกจะเรียกประชุมด่วนเพื่อหาทางรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ดูเหมือนว่าตลาดจะไม่ให้ราคากับข่าวการประชุมของโอเปกเลยแม้แต่น้อย ราคาน้ำมันดิบยังคงซบเซาและพร้อมที่จะลงต่อได้ทุกเมื่อ มีนักวิเคราะห์น้อยมากที่มองว่าราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์จะสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาและยืนได้อย่างมั่นคง ตอนนี้ทั้ง WTI และเบรนท์ต่างปรับตัวลดลงมาตลอดเดือนมกราคมมากกว่า 10% ถือเป็นการปรับตัวลดลงมามากที่สุดในรอบสามไตรมาสเลยทีเดียว
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง?
ก่อนหน้าที่ไวรัสโคโรนาจะระบาด นักวิเคราะห์หลายสำนักยังเชื่ออยู่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะดีขึ้นเพราะปัจจัยเชิงบวกหลายๆ อย่างเริ่มกลับมาแล้ว ถึงกระนั้นทันทีที่ไวรัสโคโรนาระบาดและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการซื้อขายกับจีนเป็นหลักยิ่งได้รับผลกระทบหนัก มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศถึงกับออกมาบอกว่า
“สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถ้าสถานการณ์ทั่วโลกเลวร้ายลงไปจนมนุษยชาติไม่อาจจะจินตนาการถึงได้ละก็ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจก็ไม่อาจประเมินค่าได้เช่นกัน”
อ้างอิงจากการรายงานของมูดี้ส์ ตัวเลขค่าเฉลี่ยรายเดือนของราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงสู่จุดต่ำสุด (low) ในช่วงปี 2015-2016 เท่ากับการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ WTI 43% ที่ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดจนถึงราคาปัจจุบันในขณะนี้
กราฟด้านล่างแสดงให้เห็นกรณีที่เป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันดิบอาจลงไปถึง $40 ต่อบาร์เรล ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ตลาดฝั่งเอเชียเปิดอยู่ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า $50 ได้ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมา
ตลาดหลักทรัพย์ของจีนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างปรับตัวลดลงทันทีที่ตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเปิดหลังจากสิ้นเทศกาลหยุดยาวตรุษจีนไป ตอนนี้สถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุดตอนที่เขียนบทความได้คร่าคนไปแล้วมากกว่า 360 ชีวิตและมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 17,000 รายโดยยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
การอัดฉีดเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจีนอาจช่วยเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก
ตลาดหลักทรัพย์ของจีนยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรัฐบาลจีนได้อัดฉีดเงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านหยวน (คิดเป็น $174,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เข้าระบบเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้เอาไว้ สถาบันการเงินโกลด์แมน แซคส์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลจีนว่า “จำนวนเงินที่อัดฉีดเข้าไปถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับเล็กให้ตั้งตัวได้อีกครั้งในปี 2021-2022”
ปัญหาใหญ่ของเชื้อไวรัสในตอนนี้มีอยู่สองประเด็นหนึ่งคือการฟักตัวของเชื้อไวรัสที่จะไม่แสดงอาการภายใน 10-14 วันซึ่งทำให้ตรวจสอบได้ยากและสองคือยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้ได้โดยตรงและรวดเร็วพอ การประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจนถึงตอนนี้แม้แต่สถาบันทางการเงินที่ว่าเก่งที่สุดในวอลล์สตรีทยังทำได้เพียงคาดเดาอย่างมีหลักการณ์เท่านั้น
นักวิเคราะห์จาก Sanford C. Bernstein & Co เผยว่าราคาน้ำมันดิบอาจร่วงลงไปอยู่ที่ราวๆ $50 ต่อบบาร์เรลได้หากโอเปกไม่เข้ามาแทรกแซงซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการน้ำมันลดลง 50,000 บาร์เรลต่อวันและปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลจะลดลง 40,000 บาร์เรลต่อวัน
มอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่าถ้าไวรัสยังคงระบาดต่อไปอีก 3-4 เดือนจะทำให้ปริมาณการใช้งานน้ำมันดิบในจีนของปี 2020 ลดลงอีก 75,000 บาร์เรลต่อวัน และในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ตัวเลขการเติบโตของการใช้งานน้ำมันดิบจะลดลงจาก 310,000 บาร์เรลต่อวันเหลือ 150,000 บาร์เรลต่อวัน การยกเลิกเที่ยวบินในไตรมาสแรกคืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของเครื่องบินลดลงจาก 700,000 บาร์เรลต่อวันลดลงเหลือ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ปริมาณความต้องการน้ำมันดีเซลที่ลดลงอาจทำให้โรงกลั่นน้ำมันต้องลดกำลังการผลิตลง
บริษัท S&P Global Platts แสดงความเห็นว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดปริมาณความต้องการน้ำมันดิบของโลกอาจลดลงจนถึงกับต้องใช้คำว่า “หายนะ” มานิยาม การใช้งานน้ำมันดิบในเดือนกุมภาพันธ์จาก 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวันอาจเหลือ 2 ล้านในเดือนมีนาคมและเหลือ 1 ล้านในเดือนถัดไป
เพียง 4 สัปดาห์โคโรนาช่วยทำให้งานของโอเปกเสร็จสิ้น
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกแต่คงเป็นตลกร้ายเสียมากกว่าที่โคโรนาสามารถทำสิ่งที่กลุ่มโอเปกใช้เวลาปูมานานเป็นปีเพื่อลดการผลิตน้ำมันสำเร็จได้ภายในเวลาแค่ 4 สัปดาห์เท่านั้น โอเปกถึงขนาดถอดดึงลิเบียและไนจีเรียออกจากการแผนลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อบรรลุเป้าหมายครั้งนี้
โอเปกยังคงหนักแน่นกับเส้นทางที่ตัวเองเลือกแม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะออกมาทวีตแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลดกำลังผลิตน้ำมันลงในปี 2018 ของโอเปก แต่ถึงโอเปกจะมีแผนรองรับในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ขึ้นแต่พอเกิดขึ้นจริงๆ แล้วสิ่งที่โคโรนาไวรัสทิ้งไว้ให้กับตลาดลงทุนน้ำมันกลับมีแต่ความกลัว
โคโรนาสามารถดึงราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่สร้างจุดสูงสุดของราคาไว้เหนือ $86 ในเดือนตุลาคมปี 2018 ลงมาได้ (อันที่จริงแล้วเคยทำจุดสูงสุดได้ที่ $100 ในปี 2013 และ $71 ในปีนี้) ตอนนี้นักลงทุนทำได้แต่คิดว่าโคโรนาจะลากราคาน้ำมันดิบลงไปได้ไกลแค่ไหน
แม้ราคาทองคำจะเล็งเป้าไว้ที่ $1600 แต่ขาขึ้นนี้กลับไม่ง่ายขนาดนั้น
สถานการณ์ของราคาทองคำในตอนนี้เป็นอย่างไร?
นักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานานทราบดีว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ผิดปกติขึ้นในตลาดสิ่งแรกที่นักลงทุนจะทำคือมุ่งหน้าสู่สินทรัพย์สำรองซึ่งตัวเลือกยอดนิยมได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ สกุลเงินเยน และแน่นอนว่าพระเอกตลอดกาลคือทองคำที่ตอนนี้กำลังอยู่ในเส้นทางก้าวสู่ $1600 อีกครั้งหลังจากทองคำเคยทำได้ตอนที่นายพลอิหร่านถูกสังหาร
อย่างไรก็ตามทั้งราคาทองคำสปอตและฟิวเจอร์ต่างปรับตัวลดลงเมื่อตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเปิด ความผันผวนนี้เกิดขึ้นแม้จะมีเงินไหลมาสู่สินทรัพย์สำรองมากขึ้นก็ตาม แม้นักลงทุนจะสงสัยและผิดหวังว่าทำไมราคาทองคำไม่ปรับตัวขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น นักวิเคราะห์จาก Capital Economics มองว่าตราบเท่าที่ไวรัสโคโรนายังอยู่ สินทรัพย์สำรองก็ไม่มีทางเลือกอื่นให้ไปนอกจากวิ่งขึ้น
“ยังมีพื้นที่ให้ราคาทองคำสามารถวิ่งขึ้นได้อีกเยอะในสัปดาห์นี้ตราบใดที่โลกยังไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งไปกว่านั้นตราบเท่าที่กระบวนการผลิตในจีนยังคงได้รับความเสียหายและปรับตัวลดลงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี”