สัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่หลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะได้รับแรงกระตุ้นเป็นอย่างดีจาก “ความตื่นเต้นที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย”
แต่สำหรับตลาดน้ำมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ปัญหาความกังวลในด้านความต้องการยังคงตามมาหลอกหลอนตลาดน้ำมันอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ลงเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษซึ่งควรจะส่งผลดีกับสินค้าโภคภัณฑ์ก็ตาม
ในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเปิดตลาดได้อย่างค่อนข้างแผ่วเนื่องจากตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ได้รับจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ตลาดน้ำมันก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน เริ่มต้นจากความตึงเครียดทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองกับอิหร่านเริ่มลดลงจากการที่อิหร่านยอมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์
ราคาของ น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และ เบรนท์ ของอังกฤษสามารถปรับตัวสูงขึ้นในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้เนื่องจากนักลงทุนมีความหวังกับการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 25 จุดเปอร์เซ็นต์ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
การซื้อขายเมื่อวันอังคารในตลาดเอเชียก็ยังถือว่าค่อนข้างดี
น้ำมันอาจปิดตลาดต่ำลงในสัปดาห์นี้
ยังคงมีความกังวลกันอยู่ว่า แม้ราคาน้ำมันจะสามารถปรับขึ้นได้บ้างในช่วงนี้ แต่เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ราคาน้ำมันก็จะถูกความกังวลทางด้านความต้องการฉุดให้ต่ำลงไปอีกอยู่ดี
นายฟิล ฟลีน นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Price Futures Group แห่งชิคาโกซึ่งนับเป็นผู้ที่เชื่อว่าน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นได้กล่าวอย่างมั่นใจในช่วงเปิดการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในตลาดนิวยอร์คช่วงที่ตลาดเป็นขาลงว่า
“การที่ราคาน้ำมันนิ่งเนื่องจากตลาดยังคงต้องรอผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอยู่”
“รวมทั้งเรื่องที่เฟดอาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาด้วย”
“ข้อมูลการคาดการณ์ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคต่างๆ ทั้งหมดทำให้ทราบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดน้ำมัน”
ความคาดหมายที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 25 จุดเบสิสในช่วงวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ตลาดเกิดความตื่นตัวในเดือนนี้ได้เป็นอย่างมากจนทำให้ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ปรับตัวขึ้นไปทำลายสถิติสูงสุดในรอบหกปีได้ที่ระดับเหนือ $1,450 ได้
และแม้ว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์จะปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สอง แต่ก็มีแรงซื้อหนุนเข้ามาในช่วงเดือนกรกฎาคมอันเนื่องมาจากการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น
การตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้น่าจะมีผลมากกว่านโยบายอื่นๆ ที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์นี้โดย ธนาคารกลางญี่ปุ่น และ ธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งคาดการณ์กันไว้ว่าจะถูกระงับไว้ก่อน
การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยต่อเวลาหายใจให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่นมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็มีท่าทีที่จะนำนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาใช้
ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติกาลเอาไว้ต่อไป ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษอาจต้องดำเนินการบางอย่างในช่วงที่เศรษฐกิจของอังกฤษยังคงเป็นขาลงและเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ Brexit ด้วย
นอกจากนั้น รายงานข้อมูลการจ้างงาน ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของ จีน สหรัฐฯ และ ยูโรโซน ที่มีกำหนดจะประกาศในสัปดาห์นี้เช่นกันอาจทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของทั่วโลกต่อไปอย่างไร
จากสัญญาณการเกิดภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุด ญี่ปุ่นปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ในปีนี้ลงค่อนข้างมากเนื่องจากมีปริมาณการส่งออกน้อยลง ประกอบกับความกังวลที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจจะยืดเยื้อและมาตรการการเพิ่มอัตราภาษีอาจส่งผลกระทบกับญี่ปุ่นได้
กองทุนเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่งจะปรับตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกลงเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่ทางด้าน นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า อนาคตเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีแต่จะ “แย่กับแย่”
ความตึงเครียดเกี่ยวกับอิหร่านที่ลดลงก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ในการเจรจาทางด้านข้อตกลงนิวเคลียร์ นายอับบาส อะรากชี นักเจรจาอาวุโสจากอิหร่านเรียกการเสวนาร่วมกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ทำข้อตกลงร่วมกันที่กรุงเตหะรานในปี 2015 ว่าเป็น “สิ่งสร้างสรรค์” โดยมี “ข้อตกลงร่วมกันมากมาย” และเป็นการเจรจา “ที่ราบรื่นดี”
หากสถานการณ์ความตึงเครียดกับอิหร่านดีขึ้นวันดีคืน หรือหากอิหร่านใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์เพื่อต่อรองให้รัฐบาลของทรัมป์ระงับการคว่ำบาตรน้ำมันได้ ก็อาจทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบไหลเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะเป็นการหักล้างปริมาณที่โอเปกกำลังพยายามปรับลดลงอยู่ในขณะนี้และจะทำให้สถานการณ์น้ำมันล้นตลาดหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 50 จุดเบสิสช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ประกาศออกมายังดีเกินคาด รวมไปถึง จีดีพี ประจำไตรมาส 2 ที่เพิ่งประกาศออกมาในวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ทำให้ความคาดหวังดังกล่าวลดลง
เมื่อมองในภาพรวม คำถามที่มีความสำคัญมากกว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธนี้ก็คือ เฟดจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในช่วงเดือนกันยายน รวมถึงช่วงหลังจากนั้น ความผิดหวัง ที่แท้จริงของนักลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากเฟดอาจจะไม่ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมอีกตามที่คาด
หลังการปรับดอกเบี้ย ปัจจัยเสี่ยงตัวต่อไปจะกลับมาเป็นเรื่องการเจรจาทางการค้าอีกครั้ง
หลายฝ่ายคาดว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ น่าจะสามารถกระตุ้นให้ราคาน้ำมันและทองคำให้ฟื้นตัวได้ต่อไปจากการที่เขาเคยกล่าวเกี่ยวกับนโยบายการเงินหลังจากที่มีแถลงการณ์ของธนาคารกลางอย่างเป็นทางการออกมาเมื่อวันพุธ
TD Commodities รายงานว่า
“เนื่องจากตลาดได้รับรู้ถึงการปรับลด 25 จุดเบสิสไปแล้ว เราคาดว่าปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่การแถลงข่าวของนายพาวเวลล์ ซึ่งเขาก็ยังน่าจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป หากสถานการณ์ทั่วโลกที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ"
นักลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเกาะติดสถานการณ์การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในกรุงเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่ต้องมีการยุติการเจรจากันไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ไม่มีผู้ใดคาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้ในเร็ววันนี้ รวมทั้งความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นมานานเช่นนี้ อย่างมากก็คงช่วยให้มีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นได้บ้างเท่านั้น