InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พลิกดีดตัวสู่แดนบวก หลังร่วงลงในช่วงแรก โดยถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ
ณ เวลา 20.13 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 30 จุด หรือ 0.09% สู่ระดับ 34,912 จุด
ทั้งนี้ การดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนร่วงลงสู่ระดับ 51.8 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถผลักดันการบริโภคในประเทศ
นักลงทุนเทน้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเมื่อวันศุกร์
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 93.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 7.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%
นักลงทุนมองว่าอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นในรายงานดังกล่าว รวมทั้งตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรปัจจุบัน แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานสูงกว่าคาด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563