InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งปัจจัยการเมืองในสหรัฐ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้
ณ เวลา 20.39 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 40,386.22 จุด ลบ 29.22 จุด หรือ 0.07%
นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทอัลฟาเบทและเทสลา ซึ่งจะมีการประกาศหลังจากปิดตลาดวันนี้
ทั้งนี้ บริษัทจำนวน 20% ในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2567 แล้ว โดยบริษัทราว 80% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นายเอริก ชมิตต์ สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน และนางแนนซี เมซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันเช่นกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 เพื่อให้มีการถอดถอนปธน.ไบเดนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
"โจ ไบเดนได้ตัดสินใจแล้วว่า เขาไม่มีความสามารถในการเป็นแคนดิเดต ซึ่งการยอมรับของเขาก็มีความหมายว่าเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีได้"
"ดังนั้น จะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับสหรัฐในการที่โจ ไบเดนจะลาออกจากตำแหน่ง มิฉะนั้นเขาจะถูกถอดถอนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25" นายชมิตต์ระบุด้านนางเมซระบุเช่นกันว่า "หากโจ ไบเดนไม่มีความสามารถในการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เขาก็ไม่มีความสามารถในการรับหน้าที่ประธานาธิบดีในวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ และดิฉันจะยื่นญัตติเรียกร้องให้คามาลา แฮร์ริสบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 เพื่อถอดถอนโจ ไบเดนออกจากตำแหน่ง และให้แฮร์ริสเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี"
ส่วนนายเจดี แวนซ์ คู่ชิงรองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ระบุก่อนหน้านี้ว่า สภาคองเกรสควรพิจารณาการบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 หากโจ ไบเดนตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
"ถ้าโจ ไบเดนไม่สามารถลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐด้วย และถ้ามีผู้ที่ต้องการให้เขาถอนตัวเพราะเขามีปัญหาทางสุขภาพจิต ก็ขอให้มีการบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25" นายแวนซ์กล่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 ก.ค.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)