InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ขณะที่การซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบางก่อนตลาดปิดทำการในวันจันทร์ (25 ธ.ค.) เนื่องในวันคริสต์มาส และนักลงทุนปรับตัวรับการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงปีหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,385.97 จุด ลดลง 18.38 จุด หรือ -0.05%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,754.63 จุด เพิ่มขึ้น 7.88 จุด หรือ +0.17% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,992.97 จุด เพิ่มขึ้น 29.11 จุด หรือ +0.19%
ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในช่วงเช้า หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อชะลอตัวลงใกล้เป้าหมายของเฟด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.9% ในเดือนต.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.8%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.0% ในเดือนต.ค.ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจทรงตัว
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนต.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนต.ค.และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2%
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ดัชนีหุ้นหลักทั้ง 3 ตัวปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2560
ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์ต่อเนื่องนานที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2562ดัชนี S&P500 อยู่ต่ำกว่าระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนม.ค.ปี 2565 อยู่ราว 1% ซึ่งหากปิดตลาดเหนือระดับดังกล่าว ก็จะเป็นการยืนยันว่าดัชนีอยู่ในภาวะตลาดกระทิงนับตั้งแต่แตะระดับต่ำสุดในเดือนต.ค. 2565
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจเพิ่มขึ้นเพียง 2.0% หลังจากดิ่งลง 5.1% ในเดือนต.ค.
ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนต.ค.
เครื่องมือ FedWatch tool ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินปรับตัวรับความเป็นไปได้ 74.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนมี.ค.ปีหน้า
ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลงมากที่สุด ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นปรับตัวขึ้นมากที่สุด
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวนั้น หุ้นไนกี้ร่วง 11.8% หลังปรับลดคาดการณ์ยอดขายทั้งปี เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่หุ้นฟุต ล็อกเกอร์ และหุ้นดิคส์ สปอตติ้ง กู้ดส์ ร่วงลง 2.7% และ 3.9% ตามลำดับ