InfoQuest - ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าบวกในวันนี้ (3 ก.ค.) ขณะที่ นักลงทุนประเมินตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคที่มีการเผยแพร่ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ระดับ 19,243.80 จุด เพิ่มขึ้น 327.37 จุด หรือ +1.73% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,243.24 จุด เพิ่มขึ้น 41.18 จุด หรือ +1.29% ขณะที่ดัชนีนิกเกอิปิดภาคเช้าที่ระดับ 33,704.73 จุด พุ่งขึ้น 515.69 จุด หรือ +1.55%
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอลระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ของจีนอยู่ที่ระดับ 50.5 ลดลงจากระดับ 50.9 ในเดือนพ.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัว นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ยังออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.2
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (3 ก.ค.) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ของเกาหลีใต้หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 และเป็นสถิติการหดตัวที่ยาวนานที่สุดในรอบ 19 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และมีความเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ของเกาหลีใต้ลดลงสู่ระดับ 47.8 จากระดับ 48.4 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของเกาหลีใต้อยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวตั้งแต่เดือนก.ค. 2565 ซึ่งถือเป็นสถิติการหดตัวที่ยาวนานที่สุดนับเตั้งแต่เริ่มการสำรวจในเดือนเม.ย. 2547
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในไตรมาส 2/2566 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5 จากระดับ 1 ในไตรมาสแรก และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส หลังจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายลง และต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ดัชนีทังกันประจำไตรมาส 2 ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ผลิตรถยต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 4.3% ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ดัชนีหลักทั้ง 3 ของตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยดัชนี Nasdaq Composite บวก 1.45% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 1.23% และดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 0.84%