InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (19 พ.ค.) โดยแรงบวกในช่วงเช้าได้จางหายไป หลังจากการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐในกรุงวอชิงตันหยุดชะงัก ซึ่งทำลายความหวังที่ว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,426.63 จุด ลดลง 109.28 จุด หรือ -0.33%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,191.98 จุด ลดลง 6.07 จุด หรือ -0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,657.90 จุด ลดลง 30.94 จุด หรือ -0.24%
แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.38%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.65% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 3.04% โดยดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค.
ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมาจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นว่า อาจจะมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มเพดานหนี้จากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ในเร็ว ๆ นี้ โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 2% แต่แรงบวกในช่วงเช้าวันศุกร์ได้สูญหายไปหลังจากมีรายงานว่า การเจรจาเรื่องเพดานหนี้หยุดชะงัก
ตลาดปรับตัวลง หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า เฟดจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ ขณะที่เฟดจะต้องประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเกิดปัญหาในภาคธนาคาร
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐกล่าวในการประชุมซีอีโอธนาคารเมื่อวันพฤหัสบดีว่า อาจจำเป็นต้องมีการควบรวมกิจการธนาคารมากขึ้น หลังจากการล่มสลายของธนาคารหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา
หุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาคร่วงลง โดยดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาคร่วงลงเกือบ 2.17% ในวันศุกร์ แต่ก็ยังคงปรับตัวขึ้น 6.2% ในสัปดาห์นี้ หลังจากลดลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วง 2.66% หลังจากนายเจมส์ กอร์แมน ซีอีโอประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
หุ้นฟุต ล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรองเท้า ร่วงลง หลังปรับลดคาดการณ์ยอดขายและกำไรประจำปี
การประกาศเตือนดังกล่าวของฟุต ล็อกเกอร์ ถ่วงหุ้นไนกี้และหุ้นอันเดอร์ อาร์เมอร์ ร่วงลง 3.46% และ 4.2% ตามลำดับ
ส่วนหุ้นค้าปลีกอื่น ๆ ก็เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการเช่นกันในสัปดาห์นี้ อาทิ ทาร์เก็ต คอร์ป, โฮม ดีโปท์ และทีเจเอ็กซ์ คอมพานีส์ อิงค์ เนื่องจากผู้บริโภคเผชิญกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น