InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 300 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคาร และการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ
นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการทรุดตัวของราคาหุ้นดิสนีย์ หลังเปิดเผยจำนวนสมาชิกต่ำกว่าคาด
ณ เวลา 20.57 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,167.26 จุด ลบ 364.07 จุด หรือ 1.09%
ราคาหุ้นดิสนีย์ทรุดตัวลงกว่า 5% ในวันนี้ แม้มีการเปิดเผยผลประกอบการที่ดีกว่าคาด แต่นักลงทุนผิดหวังต่อการขยายตัวของจำนวนสมาชิกที่ต่ำกว่าคาด
ราคาหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ดิ่งลงอย่างหนักในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร
ทั้งนี้ แพคเวสต์ระบุในเอกสารแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ว่า เงินฝากของธนาคารลดลง 9.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว
เอกสารระบุว่า เงินฝากส่วนใหญ่ไหลออก หลังสื่อรายงานว่า ทางธนาคารกำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำว่า "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ถือเป็นการส่งสัญญาณ "ช่วยด้วย!" ซึ่งธนาคารล่าสุดที่ได้ประกาศว่า กำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ก็คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ก่อนที่จะถูกบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าพิทักษ์ทรัพย์ และเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในที่สุด
นอกจากนี้ แพคเวสต์ระบุว่า ธนาคารยังคงมีสภาพคล่อง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก FDIC อยู่ที่ระดับ 5.2 พันล้านดอลลาร์
เอกสารดังกล่าวจากแพคเวสต์ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ สวนทางกับแถลงการณ์ของทางธนาคารเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งระบุว่า ธนาคารไม่พบการไหลออกของเงินฝากที่ผิดปกติ และเงินฝากได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เงินฝากของแพคเวสต์ดิ่งลง 16.9% ในช่วงไตรมาส 1/2566
ตลาดจับตาการหารือรอบ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ไม่ประสบความคืบหน้าแต่อย่างใด
หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.4% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 22,000 ราย สู่ระดับ 264,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 6,000 ราย สู่ระดับ 245,250 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 1.81 ล้านราย