InfoQuest - นายชาญชัย พันทาธนากิจ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่ารีบาวด์ ตามทิศทางตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปรับตัวลงไปเมื่อวานรับรู้ข่าวตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงกว่าคาด
อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีปัจจัยใหม่ที่ส่งผลต่อตลาด ส่วนปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP)ในวันพรุ่งนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
โดยให้แนวต้าน 1,660-1,665 จุด แนวรับ 1,640-1,645 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (15 ก.พ.)ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,128.05 จุด เพิ่มขึ้น 38.78 จุด หรือ + 0.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,147.60 จุด เพิ่มขึ้น 11.47 จุด หรือ +0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,070.59 จุด เพิ่มขึ้น 110.45 จุด หรือ +0.92%
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิเปิดภาคเช้าที่ระดับ 27,654.72 จุด เพิ่มขึ้น 152.86 จุด หรือ +0.56%, ดัชนีฮั่งเส็งเปิดภาคเช้าที่ระดับ 20,947.07 จุด เพิ่มขึ้น 134.9 จุด หรือ +0.65% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,281.74 จุด เพิ่มขึ้น 1.25 จุด หรือ +0.04%
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (15 ก.พ.66) 1,647.39 จุด ลดลง 5.37 จุด (-0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 114,226.12 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,659.89 ลบ.เมื่อวันที่ 15 ก.พ.66
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. (15 ก.พ.) ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 78.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (15 ก.พ.) อยู่ที่ 6.72 เหรียญ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.25 แนวโน้มผันผวนทิศทางอ่อนค่า ให้กรอบ 34.15-34.40
- "อาคม" มั่นใจฐานะการคลังแกร่ง พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ย้ำเหลือช่องให้กู้เงิน ได้อีกเพียบ ด้าน 'แบงก์ชาติ' ส่งสัญญาณชัดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวแต่ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ขณะหอการค้า จี้รัฐเร่งโรดโชว์ทำ "เอฟทีเอ" กับคู่ค้าเพิ่ม หวังช่วยหนุนส่งออกโต
- "พลังงาน" ลดราคาน้ำมันดีเซลรอบ 2 เหลือ 34 บาท มีผล 22 ก.พ.นี้ ลุ้นคลังเสนอ ครม.ยื่นกู้ 8 หมื่นล้าน สัปดาห์หน้า ทยอยจ่ายหนี้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 ล่าสุดกองทุน น้ำมันติดลบ 1 แสนล้าน "สมาคมขนส่งทางบก" ขอลดเหลือ 32 บาท แนะ "พาณิชย์" คุมราคาสินค้าลดตามน้ำมัน ผู้ผลิตชี้ทิศทางราคาสินค้ายังแพงต่อ
- ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 เมื่อเดือน ธ.ค.2565 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2562 เนื่องจากการขยายตัวของความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการช้อปดีมีคืน ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่การเปิดประเทศของจีน ที่ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวและการนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางโดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย
*หุ้นเด่นวันนี้
- OR (คิงส์ฟอร์ด) "ซื้อเก็งกำไร" ราคาเป้าหมาย IAA Consensus 26.25 บาท รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/65 ขาดทุนสุทธิ -744 ล้านบาท พลิกจากกำไรในไตรมาส 3/65 และไตรมาส 4/64 มีปัจจัยกดดันจากการนำเข้าน้ำมันบางส่วนจากต่างประเทศ (ดีเซล import 30% ราคา Premium) มาขายในช่วงที่โรงกลั่นในกลุ่ม PTT (BK:PTT) มีการปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้อัตรากำไรลดลง โดยในส่วนของค่าการตลาดลดลงมาอยู่ที่ 0.48 บาท / ลิตร จากไตรมาส 3/65 ที่ 0.68 บาท / ลิตร ส่วน SG&A เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาลและค่าโฆษณาส่งเสริมการขาย ส่วนทิศทางในช่วง ไตรมาส 1/66 คาดดีขึ้น QoQ จากฐานที่ต่ำ มีปัจจัยหนุนจาก Marketing Margin ที่เริ่มฟื้นตัวในระดับ 0.7-1.0 บาท/ลิตร หลังโรงกลั่นในประเทศเดินเครื่องปกติ ประกอบกับ กบง.เห็นชอบให้ปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นบวกต่อค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลที่ก่อนหน้านี้ถูก cap ไว้ที่ 1.4 บาท/ลิตร อย่างไรก็ตามหากเทียบ YoY กำไรจะยังจะลดลงเนื่องจากฐานที่สูงของปีก่อน ซึ่งเป๋นช่วงที่มีค่าการตลาดสูงกว่าปัจจุบัน
- ITC (กรุงศรี) "ซื้อ" เป้า IAA Consensus 38.40 บาท ประกาศงบปี 2565 มีกำไรสุทธิ 4,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180%yoy ดีกว่าที่เราและตลาดคาดไว้ 6% ส่วนวันนี้ได้ Sentiment บวกค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน เป็นบวกต่อกลุ่มส่งออกโดยเฉพาะ ITC ซึ่งส่งออก 90% ของรายได้รวม