โดย Peter Nurse
Investing.com - ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเล็กน้อยในช่วงการซื้อขายของตลาดยุโรป ขณะที่นักลงทุนรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้กำหนดนโยบายของเฟด ในช่วงเวลาที่มีแนวโน้มว่าจะมีการลดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
เมื่อเวลา 2:55 น. ET (0755 GMT) ดัชนีดอลลาร์เพิ่มขึ้นเกือบ 0.1% ที่ระดับ 91.838 ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันพุธที่ 91.509 แต่ยังต่ำกว่าระดับ 92.408 เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ค่าเงินเยน ลดลง 0.1% อยู่ที่ 110.85 ค่าเงินยูโร ลดลงเล็กน้อยที่ 1.1921 ในขณะที่ ค่าเงินออสเตรเลีย ลดลง 0.1% ที่ 0.7570.
เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนเมื่อวานนี้ หลังจากราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแอตแลนต้า และมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟด กล่าวว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้อาจเป็นสภาวะชั่วคราว แต่จะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนที่จะคลี่คลาย
แตกต่างจากมุมมองของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
บอสติกกล่าวว่า ขณะนี้เขาคาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 7% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.4% ในปีนี้ และด้วยเหตุนั้น เขาจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟดจะต้องเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่า เขาเป็นหนึ่งในเจ็ดเจ้าหน้าที่ของ FOMC ที่คาดการณ์ในการประชุมเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น
แถลงการณ์จากเฟดยังคงดำเนินต่อไปในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่อีก 6 คนที่จะแถลงในภายหลัง ในขณะที่ความสนใจจะอยู่ที่ตัวเลข ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ ที่ถูกจับตาดูอย่างกว้างขวาง เพื่อวัดขอบเขตการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
ค่าเงินปอนด์ ลดลงน้อยกว่า 0.1% มาอยู่ที่ 1.3954 ก่อนการประชุมกำหนดนโยบายล่าสุดจากธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ
ธนาคารกลางไม่ได้ถูกคาดหวังให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหรือโครงการซื้อพันธบัตร แต่อาจต้องอธิบายถึงสาเหตุที่ราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้นเหนือเป้าหมายที่ 2% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองปี
อย่างไรก็ดี "ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์อินเดียน่าจะยับยั้งธนาคารกลางไม่ให้ส่งสัญญาณเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดในช่วงเวลานี้" นักวิเคราะห์ของ ING กล่าวในรายงาน
ค่าเงินบาท อ่อนค่าขึ้นอีก โดยช่วงบ่ายซื้อขายอยู่ที่ 31.850 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ