โดย Gina Lee
Investing.com – ดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากที่สหรัฐประกาศข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่สูงเกินคาด
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ขยับลง 0.11% เป็น 89.980 เมื่อเวลา 00:14 น. ET (4:14 น. GMT)
ค่าเงินเยน เพิ่มขึ้น 0.08% เป็น 109.40 โดยการวิเคราะห์ล่าสุดระบุว่า การระบาดของโควิดอาจเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือไม่ก็ตาม
ค่าเงินออสเตรเลีย ขยับขึ้น 0.04% เป็น 0.7755 เนื่องจากออสเตรเลียบรรลุข้อตกลงการเดินทางกับสิงคโปร์ โดยไม่ต้องกักตัวผู้เดินทาง ขณะที่ ค่าเงินนิวซีแลนด์ ลดลง 0.01% เป็น 0.7195 ดอลลาร์
ค่าเงินหยวน ขยับลง 0.10% เป็น 6.3865
ค่าเงินปอนด์ ขยับขึ้น 0.06% เป็น 1.4182 ขณะที่นักลงทุนรอติดตามการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ในวันนี้
ค่าเงินบาท ขยับลง โดยซื้อขายอยู่ที่ 31.06 บาทต่อดอลลาร์
ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ 4.7% และการเติบโต 4.2% ในช่วงก่อนหน้า นับว่ารวดเร็วที่สุดในรอบกว่าสิบปี โดยค่า CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบปีต่อปี และ 0.7% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งทั้งสองตัวเลขถูกคาดการณ์ไว้โดย investing.com
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเดิมพันว่าแรงกดดันด้านราคาจะไม่กดดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ อันเนื่องมาจากการที่ราคาตั๋วเครื่องบินและรถยนต์มือสองปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น
“โดยพื้นฐานแล้ว มันสอดคล้องกับคำกล่าวของเฟดที่ว่าตัวเลขจะขึ้นสูงเป็นการชั่วคราว รายงานนี้สอดคล้องกับคำกล่าวนั้น มันไม่ได้ขัดแย้งกัน ผมคิดว่าตลาดต้องการบางสิ่งบางอย่างที่โต้แย้งกับมันเพื่อผลักดันค่าเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้น” อิมร์ สปีซเซอร์ นักวิเคราะห์สกุลเงินจาก Westpac กล่าวกับรอยเตอร์
ขณะนี้นักลงทุนกำลังติดตามการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้า แม้ว่านักลงทุนจะเห็นด้วยกับมุมมองของเฟดว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและเฟดจะคงนโยบายการเงินในปัจจุบันไปอีกสักระยะ
ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์คาดว่า เฟดจะประกาศแผนลดสัดส่วนการซื้อพันธบัตร แต่คาดว่าจะยังไม่เริ่มจนกว่าจะถึงปี 2022
“ตลาดกำลังเชื่อมั่นในเฟด แน่นอนว่าจะมีการลดมาตรการลง แต่มันจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” คริส เวสตัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของโบรกเกอร์ Pepperstone กล่าวกับรอยเตอร์
ทางฝั่งแอตแลนติก ประธานธนาคารกลางยุโรป คริสติน ลาการ์ด ให้คำมั่นว่าจะตัดสินใจเรื่องการซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้น
“การขึ้นอัตราผลตอบแทนในตลาดอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เงื่อนไขทางการเงินในวงกว้างตึงตัวขึ้น ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควรและจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ลาการ์ดกล่าว