InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 34.46 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก ช่วงเช้าเปิดตลาดที่ระดับ 34.59 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.39-34.57 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทที่ระดับ 34.39 เป็นการแข็งค่าสุดใน รอบ 7 เดือนครึ่ง นับตั้งแต่ 3 ม.ค.67 ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินอื่น ในขณะที่ปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2/67 โต 2.3% ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ตลาดรอดูปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ ทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เชื่อว่าจะยังคง ดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมที่ 2.50% รวมทั้งแนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การบริหารของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง อาจจะมีผลต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปของ กนง.ได้เช่นกัน นักบริหารเงิน คาดพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.35-34.60 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 146.26 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 147.42 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1034 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1030 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ 1,323.38 จุด เพิ่มขึ้น 20.38 จุด (+1.56%) มูลค่าซื้อขาย 62,385.85 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 10,464.67 ล้านบาท - สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาส 1/67 ทั้งปี คาด GDP ขยายตัว 2.3-2.8% ส่งออก ขยายตัว 2% เงินเฟ้อ 0.4-0.9% แนะช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่าย และ การลงทุนภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมา - เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า หากรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อ ก็อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาทด แทน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องดูว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีความ เห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยต้องหารือกันในระดับนโยบายก่อน รวมทั้งฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย - คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุม วันที่ 21 ส.ค. ขณะที่ในภาพรวมนักลงทุนจะยังรอความชัดเจนเรื่องทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ - สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ รวมทั้งขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ขณะที่เศรษฐกิจของ ประเทศในเอเชียเริ่มฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราเอเชีย - ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ระบุว่า ขณะนี้เป็นเวลาเหมาะสม ที่เฟดจะพิจารณาปรับลด อัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.50% ซึ่งถือเป็นการดำเนินการอย่างรอบคอบ และตลาดแรงงานของสหรัฐ ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้ตัวเลขจ้างงานจะชะลอลง - นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2568 ลงเหลือ 20% จากเดิมที่ระดับ 25% โดยอ้างอิงถึงรายงานยอดค้าปลีก และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ได้แสดงความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. - ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.ค.จาก Conference Board, คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.67, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้น เดือนส.ค., ยอดขายบ้านมือ สองเดือนก.ค. และยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค.