InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (5 ส.ค.) หลังจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.5% แตะที่ระดับ 102.689
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.51 เยน จากระดับ 146.49 เยนในวันศุกร์ (2 ส.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8507 ฟรังก์ จากระดับ 0.8590 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3832 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3869 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0951 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0913 ดอลลาร์ในวันศุกร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2757 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2806 ดอลลาร์
สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด และอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นักลงทุนมองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป โดยล่าช้ากว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 86% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 14% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันดังกล่าว
เงินเยนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ยังคงแสดงความเห็นเชิงรุกเกี่ยวกับนโยบายการเงินในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. โดยกล่าวว่า "หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีความเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BOJ เราก็จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป"
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 ในเดือนก.ค. โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.0 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน