InfoQuest - กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.70 บาท/ดอลลาร์
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.35 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.34-36.02 บาท/ดอลลาร์ และเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% โดยประธานเฟดระบุว่าอาจพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยเดือนก.ย.หากเงินเฟ้อชะลอตัวตามความคาดหมาย โดยแถลงการณ์ระบุว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ "ค่อนข้างสูง" เทียบกับการประเมินเดิมว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับ "สูง" มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว
ทางด้านเงินเยนพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดรอบ 6 เดือน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นดอกเบี้ยจาก 0-0.1% เป็น 0.25% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 51 ตามการคาดการณ์ของเราแต่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ร่วมตลาดบางส่วน และบีโอเจประกาศจะปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรายเดือนลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 1,647 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 22,540 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ หลังข้อมูลการจ้างงานเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาย่ำแย่เกินคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 70% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทั้งนี้ แถลงการณ์นโยบายล่าสุดของเฟดได้ตัดข้อความเดิมที่ระบุว่าเฟด "ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อ" และปรับเป็นข้อความที่ว่าเฟดให้ความสนใจต่อเป้าหมายทั้งภาวะการจ้างงานเต็มที่และการรักษาเสถียรภาพของราคา
นอกจากนี้ เรากำลังเห็นความสัมพันธ์ที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและค่าเงินเยน เราเชื่อว่า dynamic ดังกล่าวสนับสนุนมุมมองที่ว่าเงินเยนจบการอ่อนค่ารอบใหญ่ท่ามกลางการลดลงของบอนด์ยิลด์นอกญี่ปุ่น ความผันผวนของตลาดการเงินที่สูงขึ้น ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลง รวมถึงการตัดสินใจด้านนโยบายของบีโอเจที่กระตุ้นให้เกิดการระบายสถานะ yen carry trade อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนสถานการณ์ตลาดในประเทศ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ส่วนเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่ายังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวแต่คาดว่าการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ต้องติดตามผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐรวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อไป