InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (29 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.46% แตะที่ระดับ 105.098
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 157.67 เยน จากระดับ 157.15 เยนในวันอังคาร (28 พ.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9137 ฟรังก์ จากระดับ 0.9122 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3711 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3648 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6735 โครนา จากระดับ 10.5709 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0806 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0858 ดอลลาร์ในวันอังคาร และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2758 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 4.6%
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐได้เปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี วงเงิน 7 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 พ.ค.) แต่ได้รับการตอบรับอย่างซบเซาในตลาด โดย Bid-to-Cover ratio ลดลงสู่ระดับ 2.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 2.45 เท่า
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (31 พ.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)