โดย Geoffrey Smith
Investing.com -- บทสรุป 5 ข้อเกี่ยวกับภาวะการลงทุนในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคมมีดังต่อไปนี้
1. เปโลซีเผยรัฐบาลสหรัฐฯ 'ใกล้' สรุปมาตรการรับมือไวรัสโคโรนา, ปธน.ทรัมป์ตำหนิ CDC
โฆษกประจำสภาสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี เผยว่าการหารือกับรัฐบาลของปธน.ทรัมป์ เกี่ยวกับมาตรการเพื่อต่อกรกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาเริ่มเข้าใกล้ข้อสรุปแล้ว
ปธน.ทรัมป์ได้ปฏิเสธข้อเสนอของฝั่งเดโมแครตเมื่อวันพุธและเมื่อวานนี้ เนื่องจากเขาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวมีแต่ "ของเล่น" จาก "รายการสิ่งที่อยากได้ในอุดมคติ" ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เลยแม้แต่น้อย
และปธน.ทรัมป์ได้กล่าวโทษว่าความผิดพลาดในการตรวจหาการติดเชื้อของสหรัฐฯ มีสาเหตุมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ด้วยการระบุใน Twitter ว่า “การรับมือของพวกเขาต่อการระบาดของไข้หวัดหมูสายพันธุ์ H1N1 คือหายนะอย่างสิ้นเชิง มีผู้คนเสียชีวิตหลายพันคน และไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการตรวจหาการติดเชื้อตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้"
ทว่านักวิจารณ์กลับชี้ว่ารัฐบาลของปธน.ทรัมป์ต่างหากที่สั่งปลดคณะกรรมการตอบสนองต่อโรคระบาดของสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ออกทั้งชุดเพื่อประหยัดงบประมาณ
2. การระบาดเริ่มแพร่กระจายอย่างเป็นวงกว้างในยุโรป
ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ออกมาบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินกันมากขึ้น โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศและรัฐบาวาเรียของเยอรมนีก็ทำเช่นเดียวกัน แต่มาตรการการรับมือของเยอรมนียังคงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเนื่องจากอำนาจในการตัดสินใจมาจากรัฐบาลของแต่ละรัฐมากกว่าอำนาจจากส่วนกลาง
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนเริ่มลดลงสู่ระดับตัวเลขหลักเดียวแล้ว
จำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถติดตามได้อย่างแม่นยำเนื่องจากปัญหาในการตรวจการติดเชื้อและกระบวนการวินิจฉัยทั่วประเทศ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ขั้นสูงจากหน่วยงานสาธารณสุขในรัฐโอไฮโอได้เผยตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐว่าอยู่ในระดับที่มากกว่า 100,000 รายแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจหาการติดเชื้อในขณะนี้อย่างเห็นได้ชัด
ข้อมูลล่าสุดจาก Johns Hopkins ชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ได้รับการยืนยันขณะนี้อยู่ที่ 1,663 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 40 ราย
3. ตลาดหุ้นเตรียมเด้งกลับขึ้นมาในแดนบวก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เตรียมเปิดตัวสูงขึ้นในวันนี้ เนื่องด้วยความคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจและทางการเงินจะช่วยโอบอุ้มตลาดสหรัฐฯ ให้สร้างฐานได้ในที่สุด
เมื่อเวลา 6:40 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (1040 GMT) สัญญาซื้อขายดัชนี Dow 30 ล่วงหน้า ปรับขึ้น 821 จุดหรือ 3.9% ส่วนสัญญาซื้อขายดัชนี S&P 500 ล่วงหน้าขยับขึ้น 4.0% และสัญญาซื้อขายดัชนี Nasdaq 100 ปรับขึ้น 4.6%
แม้ข้อมูลบ่งชี้ทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้จะไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรนัก แต่ในวันนี้จะมีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมิชิแกนในเวลา 10.00 น. ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการระบาดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
4. ตลาดพันธบัตรตอบสนองต่อมาตรการอัดฉีดเงินของเฟด
ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มมีความเคลื่อนไหวหลังจากเฟดประกาศใช้มาตรการเพื่อฟื้นคืนสภาพคล่อง
เฟดได้ประกาศมาตรการซื้อขายหลักทรัพย์ระยะสั้นในตลาดเปิดเมื่อวานนี้เป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และได้ประกาศว่าจากวันนี้เป็นต้นไปเฟดจะกระจายการซื้อตั๋วเงินคลังตามแผนการมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งนักวิเคราะห์หลายท่านเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการปูทางสู่การใช้นโยบายแบบผ่อนคลายอย่างเต็มรูปแบบ และอาจเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเมื่อถึงการประชุมนโยบายของเฟดสัปดาห์หน้า
เมื่อเวลา 6:40 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก ผลตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ แบบอายุ 3 เดือนสูงขึ้น 9 จุดที่ 0.41% ส่วนผลตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ แบบอายุ 2 ปีลดลง 3 จุดเท่ากับ 0.46% และผลตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ แบบอายุ 10 ปีสูงขึ้น 1 จุดที่ 0.86%
5. ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ
ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงประกาศใช้มาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อเยียวยาระบบทางการเงินในประเทศ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับบางธนาคาร ซึ่งจะปลดปล่อยสภาพคล่องเป็นปริมาณราว 5.5 แสนล้านหยวน (7.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้อัดฉีดเงินเป็นมูลค่า 8.8 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียผ่านมาตรการ Repo
ทางด้านธนาคารกลางของนอร์เวย์ก็ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50 จุด ขณะที่ Riksbank ของสวีเดนประกาศว่าจะเพิ่มกองทุนเงินกู้สำหรับธนาคารภายในประเทศสูงสุดถึง 5 แสนล้านโครเนอร์ (5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ตลาดหุ้นทั่วโลกมีปฏิกิริยาในแง่บวกจากขาขึ้นที่ค่อย ๆ สะสมแรงพลิกฟื้น โดยตลาดหุ้นออสเตรเลียปรับตัวขึ้นมา 4.4% หลังจากเมื่อวานนี้ทรุดตัวลง 7.7% ทว่ามาตรการของธนาคารกลางจีนกลับมาช้าเกินไปที่จะช่วยหนุนดัชนี CSI 300 ซึ่งยังคงปิดลบ 1.0% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเด้งกลับขึ้นมาระหว่าง 3% และ 9% แต่ยังไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาจากขาลงเมื่อวานนี้ได้ และสเปนกับอิตาลีได้ออกมาตรการระงับการส่งคำสั่งขายชอร์ตในหุ้นบางประเภทแล้ว