InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (23 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ชะลอตัวลงในเดือนส.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.14% แตะที่ระดับ 103.4197
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0858 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0852 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2716 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2738 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.7830 เยน จากระดับ 145.8630 เยน ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8778 ฟรังก์ จากระดับ 0.8800 ฟรังก์, อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3542 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3552 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.9193 โครนา จากระดับ 10.9374 โครนา
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 52.0 ในเดือนก.ค.
ดัชนี PMI ใกล้หลุดระดับ 50 ซึ่งหากดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการที่คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่การจ้างงานชะลอตัวลง แต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นในเดือนส.ค.
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 49.0 ในเดือนก.ค. โดยดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนก.ค. แต่ดัชนียังคงสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงมีการขยายตัว
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. เวลา 10.05 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.05 น.ตามเวลาไทย เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย