InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (13 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.95% แตะที่ระดับ 103.5985
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 133.31 เยน จากระดับ 134.80 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9110 ฟรังก์ จากระดับ 0.9213 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3727 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3829 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5984 โครนา จากระดับ 10.6866 โครนา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0733 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0645 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2031 ดอลลาร์
นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการล่มสลายของ SVB ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของภาคธนาคารสหรัฐนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลายในปี 2551 โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนไม่เคยให้น้ำหนักต่อการคาดการณ์ดังกล่าว
รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของ SVB เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากราคาหุ้น SVB ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่า SVB อาจต้องเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดย SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของ SVB นั้น ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจาก SVB
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือนม.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนก.พ.