InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (24 ก.พ.) หลังจากการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาด จะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.6% แตะที่ 105.2157
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 136.39 เยน จากระดับ 134.64 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9404 ฟรังก์ จากระดับ 0.9335 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3604 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3547 ดอลลาร์แคนาดา และยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.4959 โครนา จากระดับ 10.4303 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0551 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0596 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1946 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2017 ดอลลาร์
ดอลลาร์ได้แรงหนุน เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันศุกร์
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 32.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)