โดย Detchana.K
Investing.com - ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ประเมินเม็ดเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจาก มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” โดยแบ่ง ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 - Base Case คนใช้จ่ายค่าที่พักตามปกติ : Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจ บริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้าน ที่พักที่มูลค่า 1.13 หมื่นล้านบาท
กรณีที่ 2 –Best Case คนจ่ายค่าที่พักแพงสุดเท่าที่จะได้รับส่วนลดจาก มาตรการ (ต้องจ่ายค่าห้องพัก 7,500 ต่อคืน จึงจะได้ส่วนลดเต็มอัตราที่ 3,000 บาทต่อคืน) : ในกรณีนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า หาก ไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยว มูลค่าประมาณ 6.17 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 3.75 หมื่นล้านบาท
ภาพรวมจะชดเชยรายได้ นทท. ต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% แม้เรา ประเมินว่ามาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐจะทำให้รายได้จาก การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไปกว่า 9.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐสามารถชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ได้เพียง 3.7-6.4% เท่านั้น
แม้เป็นจังหวัดที่คนไทยจะนิยมไป แต่หากมีรายได้จาก นทท.ต่างชาติเป็นหลัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้เพียงเล็กน้อย จาก ผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 แสดงถึงจังหวัด ท่องเที่ยวที่คนไทยไปพักแรม 10 อันดับแรก ซึ่งน่าจะเป็นจังหวัดที่คนไปเที่ยวโดยใช้สิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยจะไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่หากรายได้หลักของการท่องเที่ยวจังหวัดนั้น คือ ชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น รายได้จากคนไทยก็ทดแทนรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ ไม่มากนัก
ตัวอย่างจังหวัดในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 40-89% แม้คนไทยที่ได้รับสิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ตามผลสำรวจ แต่ก็ชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 0.5-9% เท่านั้น ส่วนกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ได้นิยมไปอย่างเช่น กระบี่ พังงา “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ไม่น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจำนวนมากได้เช่นกัน
แต่ “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถชดเชยรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ ในจังหวัด ท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไป เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี เป็นต้น โดย จังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว และมีสัดส่วนรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3-15% เท่านั้น
Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะสามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้กว่า 30% หรือทดแทนได้ ทั้งหมด อย่างในกรณีของจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบุรี ในขณะที่จังหวัด ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 14-33% ได้แก่ อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง นักท่องเที่ยวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ที่ราว 11.5-64.0%
ที่มา Krungthai COMPASS