โดย Detchana.K
Investing.com - ศูนย์วิจัยกรุงศรีเผยรายงานภาพรวมเศรษฐกิจประจำสัปดาห์นี้ระบุว่า รัฐบาลเริ่มทยอยอนุมัติโครงการตามแผนเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มเติม แผนการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมมีความคืบหน้า หลังค.ร.ม. เห็นชอบหลักการของโครงการในระยะที่ 1 วงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท การประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) วันที่ 8 กรกฎาคม เห็นชอบกรอบโครงการ และวงเงินภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ตามที่คณะ กรรมการฯกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยในรอบแรกนี้อนุมัติหลักการ 186 โครงการ กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาท จากจำนวนโครงการที่เสนอคำขอใช้งบฯมา ทั้งหมด 46,411 โครงการ วงเงิน 1.44 ล้านล้านบาท
แม้ค.ร.ม.ได้เห็นชอบกรอบของโครงการในระยะที่ 1 แล้ว วงเงินเกือบ 1 แสน ล้านบาท แต่เบื้องต้นอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินได้ก่อนเพียง 5 โครงการ วงเงิน 15,520 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคณะกรรมการฯ ยังต้องพิจารณากลั่นกรองให้ สมบูรณ์และทยอยนำกลับมาเสนอให้ค.ร.ม. อนุมัติเบิกจ่ายในระยะถัดๆ ไป ผลต่อเศรษฐกิจจากวงเงินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนี้ จึงอาจจะเข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาส 3 ของปี
ขณะที่มาตรการเยียวยา และช่วยเหลือประชาชนหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 บางส่วนจะสิ้นสุดลง อีกทั้งมาตรการท่องเที่ยวแบบจับคู่ (Travel bubble) อาจต้องชะลอ หรือเลื่อนออกไปหลังมีการระบาดรอบสองในหลายประเทศที่เป็นเป้าหมาย การเร่งให้มีการเบิกจ่ายเงินจากแผนฟื้นฟูฯ จึงนับเป็นปัจจัยที่จะช่วยพยุงการใช้จ่ายในประเทศ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอในยามที่ไร้แรงขับเคลื่อนจากภาคต่างประเทศทั้งภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออก รวมทั้งการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง
ทางการเตรียมเพิ่มมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเผย 3 มาตรการเร่งด่วนที่เตรียมจะดำเนินการเพิ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่
i) ให้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เตรียมวงเงิน 3 หมื่น ล้านบาท สำหรับค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs
ii) จัดตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท (ใช้วงเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือ SMEs (คนตัวเล็ก) ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ โดยให้ความช่วยเหลือรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
และ iii) เร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ทั้งนี้ทางการคาดว่าการค้าประกันสินเชื่อวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นรายละไม่เกิน 10-15 ล้านบาท จะสามารถช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ 4-5 หมื่นราย
แม้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศคลี่คลายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก อีกทั้งบางประเทศเผชิญกับการระบาดระลอกสอง ทำให้ยังมีความจำเป็น ที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย จึงเป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทบต่อรายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ปรับลดลงมาก และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ การสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจจึงนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากทิ้งไว้เป็นปัญหาลากยาวอาจทำให้เศรษฐกิจซึมลึกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แบบจำลองของวิจัยกรุงศรีประเมินว่าจากข้อมูลธุรกิจที่อยู่ในระบบ มีจำนวนราว 90,000 บริษัทที่กำลังประสบปัญหาและอาจต้องการสภาพคล่อง สูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและรักษาธุรกิจให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตครั้งนี้ และหากมีการนับรวมภาคธุรกิจที่อยู่นอกระบบรวมถึงภาคครัวเรือนเข้าด้วยแล้ว อาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จำนวนเงินมากกว่าที่ประเมินไว้
ที่มา: ศูนย์วิจัยกรุงศรี