โดย Noreen Burke
Investing.com - ห้าประเด็นสำคัญที่คุณควรทราบก่อนเริ่มต้นสัปดาห์นี้มีดังต่อไปนี้
- การให้คำกล่าวของเพาเวลล์
ประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ จะแถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบายทางการเงินรายครึ่งปีของธนาคารกลางสหรัฐต่อหน้าสภาคองเกรสในวันพรุ่งนี้และวันพุธนี้ โดยตลาดจะคอยจับตาดูว่านายเพาเวลล์จะเผยมุมมองทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ อีกหรือไม่ รวมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการซื้อตราสารหนี้และการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมอีกด้วย
สัปดาห์ที่แล้วเฟดได้ประกาศแผนการเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดในระยะยาวอีกหลายปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2020 เศรษฐกิจจะหดตัวลง 6.5% และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีอัตราการว่างงานจะเท่ากับ 9.3%
- ยอดค้าปลีกและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ
ในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤษภาคมในวันพรุ่งนี้ โดยเมื่อเดือนเมษายนยอดค้าปลีกได้ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ถึง 16.4% ซึ่งหวังว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และนักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดค้าปลีกจะพลิกฟื้นขึ้นมา 8% หลังจากรัฐส่วนใหญ่เริ่มปลดการใช้มาตรการล็อกดาวน์แล้ว
ส่วน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก จะรายงานออกมาในวันพฤหัสบดีนี้ โดยสัปดาห์ที่แล้วได้มียอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานทั้งหมด 1.5 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน ทว่าอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 13.3%
และปฏิทินเศรษฐกิจสัปดาห์นี้จะประกอบไปด้วย ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ ยอดบ้านที่กำลังจะสร้าง อีกด้วย
- การพลิกฟื้นของหุ้นคุณค่าจะยังคงอยู่หรือไม่
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา ผู้จัดการกองทุนบางส่วนได้ถอนตัวจากการถือครองกลุ่มหุ้นคุณค่า (Value stock) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนักในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นครั้งล่าสุด
หุ้นคุณค่ามักจะทำผลงานได้ไม่ดีเท่าหุ้นเติบโตเร็ว (Growth stock) ท่ามกลางภาวะตลาดกระทิงที่กินเวลามานานนับทศวรรษและเพิ่งสิ้นสุดลงในปีนี้
ไม่นานมานี้รูปแบบดังกล่าวได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน โดยเมื่อเดือนที่แล้วดัชนี S&P 500 Value ปรับตัวขึ้นมาเพียง 4.5% ขณะที่ดัชนี S&P 500 Growth ทะยานขึ้นถึง 5%
แต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนท่ามกลางการระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนบางส่วนหันกลับไปลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโตเร็วและทำผลงานได้ดีในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
- ธนาคารกลางอังกฤษเตรียมขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องรับมือกับผลกระทบจากการระบาด ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กลับต้องรับมือกับ Brexit ด้วย โดยเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในเดือนเมษายนได้ทรุดตัวลงถึง 20% ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเหลือขนาดเท่ากับเมื่อปี 2002 และในปีนี้อาจเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 300 ปีเลยทีเดียว
คาดว่า BoE จะเพิ่มวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1.5 แสนล้านปอนด์เมื่อถึง การประชุม วันพฤหัสบดีนี้ จากที่ได้มีการเพิ่มวงเงินไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมและนักวิเคราะห์บางท่านชี้ว่าในที่สุดแล้วอาจมีการเพิ่มวงเงินจนถึง 2 แสนล้านปอนด์ก็เป็นได้
ทั้งนี้วงเงินการซื้อตราสารหนี้ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะถึงขีดจำกัดภายในอีกสองเดือนข้างหน้า และการเพิ่มวงเงินจะช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะต้องหยุดการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนถึงเวลาอันเหมาะสม
โดยสหราชอาณาจักรจะรายงาน อัตราการว่างงาน, อัตราเงินเฟ้อ, ยอดค้าปลีก และ อัตราเงินเฟ้อของราคาที่อยู่อาศัย ในปฏิทินเศรษฐกิจของสัปดาห์นี้ด้วย
- สัปดาห์ที่น่าจับตาของสหภาพยุโรป
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฟอน เดอร์ เลเยน จะมีกำหนดการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ในวันนี้เพื่อสะสางการเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายหลัง Brexit โดยที่ผ่านมายังมีความคืบหน้าไม่มากนักเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าเสรี และขณะนี้ก็เหลือเวลาไม่มากพอแล้วที่จะยืดเวลาเส้นตายในสิ้นปี 2020 ออกไปอีก
จากนั้นในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้ คณะผู้นำจากสหภาพยุโรปจะประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคณะสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนยกเว้นสี่ประเทศที่รู้จักกันในนาม "Frugal Four (สี่ประเทศแสนตระหนี่)" ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก และสวีเดน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศ และความล่าช้าที่เกิดขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันสำคัญแก่ ค่าเงินยูโร ด้วย
--เนื้อหาข่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส
ปฏิทินเศรษฐกิจ