Investing.com - หลังจากที่หายหน้าหายตาไปประมาณหกเดือน ในสุดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็กลับมาเป็นประเด็นให้พาดหัวข่าวอีกครั้ง คำถามสำคัญก็คือคราวนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบจะทำอย่างไรกับราคาน้ำมันต่อไป หรือถ้าจะถามให้ตรงก็คือ กลุ่ม OPEC+ จะมีนโยบายอย่างไรเพื่อต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่นี้?
สำหรับนักลงทุนผู้ศรัทธาในขาขึ้นของตลาดน้ำมันดิบ ทุกครั้งที่การระบาดของโควิดถูกเล่นให้เป็นข่าวใหญ่ พวกเขามองว่านี่เป็นเพียงข้ออ้างของฝั่งคนขายที่อยากจะฉุดขาขึ้นให้ปรับตัวลดลงมาก็เท่านั้น เทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือจำนวนคนที่เชื่อว่าราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเพราะโควิดเพียงอย่างเดียว มีจำนวนพอๆ กับคนที่ยังเชื่อว่าโลกนี้แบน ทุกๆ พาดหัวข่าวที่เกี่ยวกับโควิด ที่เริ่มทยอยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สร้างความรำคาญใจให้กับนักลงทุนขาขึ้น เพียงแค่ประโคมกระแสนี้ ก็สามารถทำให้ราคาน้ำมันดิบตลอดทั้งสัปดาห์ร่วงลงได้ 6%
แต่ถ้าเป็นกลุ่ม OPEC+ เริ่มออกมาเคลื่อนไหว พฤติกรรมการวิ่งของราคาในตลาดนั้นจะแตกต่างออกไป เพราะที่ผ่านมา ในทุกๆ รายงานประจำเดือนหรือประจำไตรมาส ทางกลุ่มก็มักจะระบุเอาไว้อยู่แล้วว่ายังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาด เมื่อโควิดกลับมาอีกครั้งในรอบนี้ คำพูดจากกลุ่ม OPEC+ จึงไม่ใช่ข้ออ้างอย่างที่สำนักข่าวทำ เพราะพวกเขาได้เตือนล่วงหน้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว และถึงแม้ว่า OPEC+ จะได้รับแรงกดดันจากนานาชาติ ให้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมันแพง แต่กลุ่ม OPEC+ ก็ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
แทนที่จะมาเป็นห่วงสถานการณ์ของกลุ่ม OPEC+ สำนักข่าวควรไปให้ความสนใจกับรัฐบาลในแต่ละประเทศอย่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่นดีกว่าไหมว่าพวกเขามีน้ำมันสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับระดับราคาน้ำมันที่สูงที่สุดในรอบเจ็ดปี และเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบสามสิบปีหรือไม่ ในเมื่อ OPEC+ ไม่คิดที่จะขยับ เราจึงได้เห็นข่าวสหรัฐฯ เตรียมนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ออกมาใช้ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในตลาดปรับตัวลดลง
ไม่นานหลังจากที่ข่าวการจะนำ SPR ออกมาใช้เป็นที่พูดถึงในตลาด จนทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาจนหลุด $80 ต่อบาร์เรล ข่าวการระบาดของโควิดในยุโรปและออสเตรียก็กลายเป็นที่ถูกพูดถึงในทันที แทบจะทุกสำนักข่าวเล่นประเด็นเรื่องการกลับมาล็อกดาวน์ในออสเตรีย และการเตรียมบังคับประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องฉีดวัคซีน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่มองว่านี่คือการริดรอนสิทธิเสรีภาพ และตอนนี้หลายๆ ประเทศในยุโรปก็เริ่มมีการประกาศใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง ข่าวร้ายนี้กดดันให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวลดลงมาวิ่งอยู่ที่ $75 ต่อบาร์เรลได้สำเร็จ
สิ่งที่โลกกำลังจับตาอยู่ในตอนนี้คือการเดินหมากตัวต่อไปของกลุ่ม OPEC+ ซึ่งจะเกิดขึ้นในการประชุมประจำเดือนในวันที่ 2 ธันวาคม ตลาดลงทุนเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้น่าจะกินเวลานานกว่าครั้งก่อน และน่าจะมีการประกาศแผนรับมือออกมามากมาย เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ OPEC+ เท่านั้นที่ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ แต่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ก็เคยออกมาพูดแล้วเช่นกัน และเห็นด้วยกับสิ่งที่ OPEC+ วิเคราะห์ และเสริมด้วยว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสนี้
ตลาดลงทุนคาดการณ์ว่าสิ่งแรกที่กลุ่ม OPEC+ จะทำคือกระหยุดแผนการผลิตน้ำมันวันละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากนั้น ก็อาจจะประกาศลดตัวเลขกำลังการผลิตลง ซึ่งตรงนี้ถือว่าสำคัญ เพราะยิ่ง OPEC+ ลดปริมาณการผลิตลงมากเท่าไหร่ ย่อมหมายความว่าปัญหาโควิดที่พวกเขาประเมินเอาไว้มีความรุนแรงมากกว่านั้น เจฟฟี่ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA ให้ความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงก่อนการประชุม หลังจากนั้นจะปรับตัวขึ้น
ถึงแม้ว่ากลุ่ม OPEC+ จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวไปจนกว่าจะถึงวันประชุม แต่ผู้มีอำนาจบางคนในกลุ่มก็ถูกคาดการณ์ว่าจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดก่อนการประชุม ยกตัวอย่างเช่นรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันหลายๆ คนของกลุ่ม OPEC+ ท่านอับดุลลาซิส บิล ซัลมาน และซูฮา อิลอัลมาซโรไนของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์ คำพูดเหล่านั้นก็ยังไม่มีน้ำมันมากพอเมื่อเทียบกับระดับอุปสงค์อุปทานที่กำลังจะเปลี่ยนไปยิ่งการล็อกดาวน์ในยุโรปใกล้เข้ามา เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบถึงความสามารถในการกลับมาทำงานของชาวยุโรป และความต้องการน้ำมันสำหรับเครื่องบินเจ็ต
สำหรับตอนนี้ สิ่งที่สามารถใช้คานความเสี่ยงจากข่าวร้ายโควิดได้คงเห็นจะมีแต่รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าตลาดจะยังไม่ปรับตัวกลับขึ้นมา แต่ข่าวดีนี้ก็ช่วงชะลอความเร็วในการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ จอห์น คิลดัฟฟ์ พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Again Capital ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในตอนนี้ว่า
“สภาพอากาศที่หนาวเย็น และการระบาดของโควิดใหม่ในยุโรปจะกลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กับตลาดพลังงานในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ขาขึ้นในช่วงนี้ก็อาจจะต้องเพลามือลงไปก่อน เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่กังวลกัน มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะลงไปถึง $70 - $60 ต่อบาร์เรลได้”
สรุปภาพรวมตลาดน้ำมัน
สัปดาห์ที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 3.2% คิดเป็นการปรับตัวลดลง $2.91 บาร์เรล มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $75.94 ต่อบาร์เรล ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา WTI ปรับตัวลดลง 5.8% ทำให้รวมแล้วสี่สัปดาห์ล่าสุด คิดเป็นขาลง 9.3% อย่างไรก็ตาม ผลงานรวมตลอดทั้งปียังถือว่า WTI ปรับตัวขึ้นมาได้ 57%
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือที่จะส่งมอบในเดือนมกราคมปรับตัวลดลง 2.9% คิดเป็นการปรับตัวลดลง $2.35 บาร์เรล มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $78.89 ต่อบาร์เรล ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 4% ทำให้รวมแล้วสี่สัปดาห์ล่าสุด คิดเป็นขาลง 8% อย่างไรก็ตาม ผลงานรวมตลอดทั้งปียังถือว่าเบรนท์ปรับตัวขึ้นมาได้ 57%
ภาพรวมตลาดทองคำ
สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์แรกในรอบสามสัปดาห์ที่ราคาทองคำปิดติดลบ แต่ราคาทองคำก็ยังสามารถรักษาระดับให้ยืนเหนือ $1,850 ได้อย่างเหนียวแน่น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพียงวันเดียวที่ทองคำสามารถปิดวันเป็นบวกได้ แต่นอกจากนั้นสี่วันล้วนแล้วแต่ปิดด้วยระดับติดลบ นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าขาขึ้นที่มีมาตั้งแต่เดือนตุลาคมอาจจะเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดแรงส่ง แต่ด้วยความที่ราคาทองคำสามารถรักษาตัวเองไว้เหนือแนวรับ $1,850 ได้ จึงทำให้ขาลงที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการชะลอตัว และอาจมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นมาได้ในสัปดาห์นี้
เอ็ด โมญ่า นักวิเคราะห์จาก OANDA ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ทองคำในตอนนี้ว่า
“ราคาทองคำปรับตัวอยู่ในกรอบไซด์เวย์แบบขยายกว้าง และอาจจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดทั้งสัปดาห์เพราะมีวันหยุดขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เวลาในการลงทุนเหลือเพียง 4 วัน ในตอนนี้ข่าวที่จะสร้างผลกระทบให้กับราคาทองคำได้จริงๆ คือเงินเฟ้อและถ้อยแถลงของบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ นักลงทุนอาจต้องรอให้ผ่านสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าไปก่อน ทองคำอาจจะมีความเคลื่อนไหวรุนแรงอีกครั้ง”
ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคม ปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว 0.5% คิดเป็นการปรับตัวลดลงมา $9.80 มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,851.60 กรอบราคาสูงสุดและต่ำสุดในช่วงนี้มีอยู่ที่ $1,880 และ $1,843.60 ยังถือว่ามีความเป็นไปได้ที่ทองคำจะขึ้นแตะ $1,900 หากมีข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อออกมา สาเหตุที่ราคาทองคำยังไม่กล้าขึ้นไปแตะ $1,900 ในตอนนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเป็นเพราะข่าวลือที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการร่นระยะเวลาการลด QE ให้จบไวขึ้น ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ ต้องรอดูในการประุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนหน้า
ในขณะเดียวกัน ตัวบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นับวันก็ยิ่งเติบโตขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้นมาล่าสุดคือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนตุลาคม ที่สามารถวิ่งขึ้นแตะระดับ 6.2% ได้ในเดือนตุลาคม นี่ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดของ CPI นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1990 ในขณะเดียวกัน กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยจริง ก็ได้ปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบสามสัปดาห์ที่ 1.6% และดัชนีดอลลาร์สหรัฐก็ได้ขยับขึ้นไปสู่ระดับราคา 96 จุด สูงสที่สุดในรอบสิบหกเดือน